Abstract:
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาอุปสรรค ภาวะจิตใจท่ามกลางอุปสรรค และประสบการณ์การฟันฝ่าอุปสรรคของชาวนาไทย โดยใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพแบบปรากฎการณ์วิทยา สัมภาษณ์เชิงลึกครอบครัวชาวนาในตำบลสำพะเนียง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จำนวนทั้งสิ้น 12 ครอบครัว นำเทปบันทึกสัมภาษณ์ถอดความแบบคำต่อคำ ถอดรหัสความ แล้วจัดหมวดหมู่เพื่อสรุปประเด็นย่อยและประเด็นหลักตามลำดับ ผลการวิจัยแบ่งได้เป็นสองประเด็นหลักคือ อุปสรรคในวิถีชีวิตชาวนาและเส้นทางสู่การฟันฝ่าอุปสรรค อุปสรรคที่เกิดขึ้นในวิถีชีวิตชาวนาได้แก่ สภาพดินฟ้าอากาศ การรบกวนของศัตรูข้าว ความผันผวนด้านปัจจัยราคา ระบบชลประทานไม่ทั่วถึง ความยากจน พฤติกรรมของบุคคลในครอบครัวไม่เหมาะสม การเจ็บป่วยทางกาย และการสูญเสียบุคคลในครอบครัวหรือทรัพย์สินมีค่า เส้นทางสู่การฟันฝ่าอุปสรรคเริ่มต้นจากการที่ชาวนารับรู้ภาวะจิตใจท่ามกลางอุปสรรคที่เกิดขึ้นกับตนเอง ซึ่งจำแนกเป็น 2 ลักษณะคือ สภาวะบีบคั้นทางจิตใจและผลกระทบต่อวิถีชีวิต จากนั้น ชาวนาจึงก้าวสู่ประสบการณ์ในการฟันฝ่าอุปสรรค ซึ่งจำแนกเป็น 3 ลักษณะคือ 1) จุดเริ่มต้นสู่การฟันฝ่า ได้แก่ สภาวะการเกิดสติ แรงใจจากในหลวง การนึกถึงหน้าลูกเมีย กำลังใจจากเพื่อนชาวนา การช่วยเหลือจากภาครัฐ การสำนึกในบุญคุณของแม่โพสพ ความรักในอาชีพชาวนา การตั้งเป้าหมายในอนาคต 2) ลักษณะการเผชิญอุปสรรคได้แก่ มองว่าสามารถจัดการได้ ไม่ทอดทิ้งหน้าที่รับผิดชอบ เชื่อว่าวันหน้ายังมีหวัง ฮึดสู้ด้วยความอดทนอดกลั้น ทำใจยอมรับความจริง มองเห็นข้อดีในปัญหาที่เกิดขึ้น และ3)คุณค่าชีวิตจากประสบการณ์ ได้แก่ มานะบากบั่นไม่ท้อถอย ดำเนินชีวิตตามแนวทางความพอเพียง ใช้สติในการแก้ไขปัญหา มองเห็นความจริงของชีวิต ตระหนักในคุณค่าของชีวิตคู่ ผลการศึกษานี้ช่วยให้เกิดความเข้าใจอย่างลึกซึ้งในธรรมชาติของอุปสรรคและการฟันฝ่าอุปสรรคของชาวนาไทย