Abstract:
วัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาคุณสมบัติและความต้านทานต่อการล้าของตะขอโอบฟันโลหะผสมโคบอลต์-โครเมียมที่นำโลหะเก่ากลับมาใช้ซ้ำในอัตราส่วนผสมของโลหะเก่าและโลหะใหม่โดยน้ำหนักที่แตกต่างกัน วัสดุและวิธีการ ชิ้นงานตัวอย่างตะขอโอบฟันที่ทำจากโลหะผสมโคบอลต์-โครเมียมจำนวน 45 ชิ้น ถูกแบ่งเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มละ 15 ชิ้น โดยกลุ่มที่ 1 ทำจากโลหะใหม่ทั้งหมด กลุ่มที่ 2 ทำจากโลหะใหม่ร้อยละ 50 ผสมกับโลหะ เก่าร้อยละ 50 และกลุ่มที่ 3 ทำจากโลหะเก่าทั้งหมด โดยโลหะเก่าที่ใช้ผ่านการหลอมมาแล้ว 1 ครั้งเท่านั้น ชิ้นงาน ตัวอย่างกลุ่มละ 10 ชิ้น ถูกนำมาทดสอบแบบเบนดิ้ง โดยให้แรงจนกระทั่งชิ้นงานหัก และทำการบันทึกค่า คุณสมบัติต่างๆ ส่วนชิ้นงานตัวอย่างที่เหลือกลุ่มละ 5 ชิ้นจะถูกนำมาทดสอบความต้านทานต่อการล้า โดยให้แรง ที่ทำให้เกิดการเบนออกของชิ้นงานเป็นระยะ 0.25 มม. ซ้ำๆ เพื่อจำลองการดีดตัวของตะขอโอบฟันเข้าออกจาก ส่วนคอดของฟันหลักในขณะถอดใส่ฟันปลอม จนกระทั่งชิ้นงานเริ่มเกิดการเปลี่ยนแปลงรูปร่างอย่างถาวรเป็น ระยะ 0.1 มม.ในแนวดิ่ง ทำการบันทึกจำนวนรอบของการให้แรง จากนั้นจึงนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์ผลด้วยสถิติ การวิเคราะห์ความแปรปรวนแบบทางเดียว และเปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างกลุ่มโดยสถิติแบบแอลเอสดี ผลการศึกษา ค่าเฉลี่ยของแรงที่จุดคราก ค่ามอดูลัสยืดหยุ่น และแรงที่ทำให้ชิ้นงานเบนออกไปเป็นระยะ 0.25 มม. ของตะขอที่ทำจากโลหะใหม่ทั้งหมดไม่แตกต่างกับตะขอที่ทำจากโลหะใหม่ร้อยละ 50 ผสมกับโลหะเก่า ร้อยละ 50 อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ แต่มีค่าสูงกว่าตะขอที่ทำจากโลหะเก่าทั้งหมดอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p < 0.05) ตะขอที่ทำจากโลหะใหม่ทั้งหมดมีความต้านทานต่อการล้าเฉลี่ย (8,457 รอบ) สูงกว่าชิ้นงานตะขอที่ทำจาก โลหะใหม่ร้อยละ 50 ผสมกับโลหะเก่าร้อยละ 50 (5,479 รอบ) และสูงกว่าชิ้นงานตะขอที่ทำจากโลหะเก่าทั้งหมด (2,880 รอบ) อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ตามลำดับ (p < 0.05) สรุป การนำโลหะผสมโคบอลต์-โครเมียมกลับมาใช้ซ้ำในอัตราส่วนผสมของโลหะเก่าที่มากขึ้น มีผลทำให้ คุณสมบัติต่างๆ และความต้านทานต่อการล้าของตะขอโลหะเหวี่ยงลดลง คำสำคัญ : ความต้านทานต่อการล้า; ตะขอโอบฟัน; นำกลับมาใช้ซ้ำ; โลหะผสมโคบอลต์-โครเมียม