Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ ศึกษานโยบายพลังงานของไทยในบริบทความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน ที่ปรากฏทั้งในรูปของความขัดแย้งและความร่วมมือ โดยอาศัยกรอบการวิเคราะห์ตามแนวทางความมั่นคงรูปแบบใหม่ (Non Traditional Security) ผลการศึกษาพบว่า ในอดีตความสัมพันธ์ระหว่างไทยและเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะในช่วงสงครามเย็นเกิดภาวะความลักลั่นสูง เนื่องจากปัจจัยเชิงลบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นภัยคุกคามจากคอมมิวนิสต์ การปักปันเขตแดน การเมืองภายในและระหว่างประเทศ แต่เมื่อสถานการณ์เหล่านี้ได้คลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้นเมื่อสงครามเย็นสิ้นสุดลง จึงเป็นการเปิดโอกาสให้ไทยและเพื่อนบ้านหันมามีความสัมพันธ์ต่อกันในรูปแบบต่างๆมากขึ้น หลังยุคสงครามเย็นเป็นต้นมาถึงปัจจุบัน ประเด็นเรื่องพลังงานจัดเป็นภัยคุกคามรูปแบบใหม่ซึ่งบั่นทอนความมั่นคงของรัฐทั่วโลก ดังนั้น การแก้ไขปัญหานี้ส่วนหนึ่งคือ จึงมุ่งเน้นไปที่การสร้างความร่วมมือทางพลังงานโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับประเทศที่ส่งออกพลังงานตลอดจนประเทศเพื่อนบ้าน สำหรับประเทศไทยนั้น วิกฤตทางพลังงานโดยเฉพาะน้ำมันหลายครั้งที่ผ่านมา การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ผสานกับปัจจัยการเมืองระหว่างประเทศ ได้ผลักดันให้ไทยจำเป็นต้องสร้างความสัมพันธ์เชิงความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านในรูปแบบต่างๆ อันได้แก่ การซื้อขายพลังงาน และความร่วมมือแก้ไขข้อพิพาทแหล่งทรัพยากรทางพลังงานกับประเทศเพื่อนบ้าน อันได้แก่ ก๊าซธรรมชาติ และเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงทศวรรษที่ 1990 ถึงค.ศ. 2006 ซึ่งเป็นช่วงที่ไทยและประเทศเพื่อนบ้านสามารถบรรลุข้อตกลงความร่วมมือทางพลังงานได้หลายกรณี ซึ่งมีระดับความสำเร็จมากน้อยต่างกันไป