Abstract:
โครงการ การพัฒนาอุตสาหกรรม ผลกระทบต่อวิถีชีวิตชุมชนริมคลองรังสิต มีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการศึกษาสภาพแวดล้อมปัจจุบันของชุมชนริมคลองรังสิต การเปลี่ยนแปลงลักษณะของชุมชนอันเนื่องมาจากการพัฒนาอุตสาหกรรมของชุมชนริมคลองรังสิต ช่วงเวลาที่ใช้เป็นข้อมูลเพื่อทำการศึกษาใช้ระยะเวลาประมาณ 20 ปี ย้อนหลังจากปี 2542 โดยกำหนดขอบเขตพื้นที่การศึกษาเส้นทางตั้งแต่คลอง 1-คลอง 7 (กิโลเมตรที่ 1-15) รัศมีจากริมคลองรังสิต 500 เมตร จำนวน 15 หมู่บ้านของเทศบาลตำบลประชาธิปัตย์ ตำบลบึงยี่โถ ตำบาลรังสิต และตำบลลำผักกูด อำเภอธัญบุรี รวม 200 ครัวเรือน และสัมภาษณ์เจาะลึกผู้นำชุมชนอย่างเป็นทางการ และผู้นำชุมชนไม่เป็นทางการ ทำการเก็บข้อมูลภาคสนาม ระหว่างปี พ.ศ. 2544-2545 ผลการศึกษา ก่อนปี พ.ศ. 2525 ขาวบ้านเกือบทั้งหมดใช้น้ำคลองกับกิจกรรมในครัวเรือน ปัจจุบันคุณภาพน้ำในคลองคุณภาพต่ำลง แต่มีผู้อาศัยอยู่ริมคลองร้อยละ 52.0 ยังต้องใช้น้ำคลองเพื่อการอุปโภคเพราะไม่มีทางเลือกอื่นจำเป็นต้องใช้น้ำคลอง เนื่องจากน้ำประปา/บาดาลยังมีใช้ไม่ทั่วถึง และบ้านเรือนปลูกติดริมคลองอยู่แล้ว แหล่งน้ำเพื่อการบริโภค ในอดีตสามารถนำมาดื่มกินได้ปัจจุบันส่วนใหญ่ซื้อน้ำดื่ม รองน้ำฝนเก็บไว้ปรุงอาหารในครัวเรือน ผลกระทบต่อวิถีชีวิตของชุมชน การเปลี่ยนแปลงพื้นที่ทุ่งรังสิตมีการพัฒนามาเรื่อยๆ จากการใช้ที่ดินเกือบทั้งทุ่งรังสิตปลูกข้าวซึ่งเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญในอดีต ต่อมานักลงทุนเริ่มเข้ามาซื้อที่ดินสร้างโรงงานอุตสาหกรรม บ้านจัดสรร เพราะราคาที่ดินของทุ่งรังสิตไม่แพง การคมนาคมขนส่งสะดวกใกล้กรุงเทพ ใกล้สนามบินดอนเมือง ประชาชนย้ายถิ่นเข้ามาอยู่อาศัยทั้งมาซื้อมาเช่า และปลูกที่อยู่อาศัยรุกล้ำคลองรังสิตปรากฏการณ์เช่นนี้ ทำให้สภาพแวดล้อมของทุ่งรังสิตเปลี่ยนแปลงไป พอสรุปได้ดังนี้ 1) ผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม ปัจจุบันปัญหาสิ่งแวดล้อมมีมากขึ้นร้อยละ 93.5 คือ ปัญหาน้ำเน่าเสีย จากโรงงานอุตสาหกรรม จากบ้านเรือนที่อยู่ริมคลอง และปัญหาอากาศเป็นพิษ 2) ผลกระทบระดับครัวเรือน หัวหน้าครัวเรือนร้อยละ 89.0 ตอบว่ามีผลกระทบด้านลบ ทำให้ต้องเปลี่ยนแปลงอาชีพ ไม่มีงานทำ รายได้ลดลงสภาพแวดล้อมบริเวณบ้านเสื่อมโทรมสกปรกไม่น่าอยู่ น้ำคลองเท่าเสียไม่สะอาด การมีอุตสาหกรรมอยู่ใกล้ที่อยู่อาศัยอาจทำให้ร่างกายอ่อนแอลง ร้อยละ 11.0 ตอบว่าไม่มีผลกระทบครัวเรือนที่ตนเองอาศัยอยู่ การเปลี่ยนอาชีพทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้น การทางสะดวกรวดเร็วมีทางเลือกมากขึ้น การใช้ประโยชน์จากคลองรังสิต ตอบว่าใช้ไม่ได้ แม้ต้องการจะใช้ก็ใช้ไม่ได้ ร้อยละ 55.5 และร้อยละ 20.5 ตอบว่าไม่ใช้ทางอื่นแทน รัฐบาลน่าจะเข้ามาช่วยให้คำแนะนำ ดูแล มีวิธีการกำจัดสิ่งสกปรกออกไป โดยให้คนในชุมชนช่วยกันดูแลอย่างจริงจัง 3) ผลกระทบระดับชุมชน มีการย้ายถิ่นเข้ามาอยู่อาศัยมากขึ้น พื้นที่คับแคบลงไม่เหมือนเมื่อก่อน แต่มีผลดีกับการประกอบอาชีพทำให้คนมีงานทำมากขึ้นรายได้ดีขึ้น การเจ็บป่วยไม่รู้สาเหตุว่ามาจากการพัฒนาพื้นที่เป็นอุตสาหกรรมหรือไม่ การคมนาคม มีความสะดวกรวดเร็วมากขึ้น ใช้ประโยชน์จากคลองเป็นส่วนน้อย (ร้อยละ 11.0) เพราะมีน้ำประปาใช้แล้ว ปัจจุบันวัฒนธรรมประเพณีของชาวบ้านริมคลองรังสิตยังมีอยู่ตามเทศกาลไม่ค่อยเปลี่ยนแปลงนัก ชุมชนมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆ ด้วย 4) ผลกระทบต่อคลองรังสิต มีผลกระทบทางลบ ร้อยละ 67.0 เพราะ น้ำเสียไม่ได้บำบัดให้ถูกต้องก่อนปล่อยลงคลอง สิ่งปลูกสร้างรุกล้ำที่ดินริมคลอง สร้างห้องน้ำลงไปในคลอง ทำให้น้ำมีสีคล้ำ ส่งกลิ่นเหม็น มีขยะลอยน้ำ ผู้ที่ตอบว่าไม่มีผลกระทบร้อยละ 33.0 เพราะไม่ได้สนใจที่จะใช้ประโยชน์จากคลองรังสิตแล้ว ปัจจุบันหน่วยงานรัฐกำลังเข้ามาดูแลรักษาทำความสะอาดคลองโดยนำเครื่องจักรกลมากำจัดผักตบชวานำไปทำปุ๋ยหมักให้กับเกษตรกร จึงทำให้สภาพของคลองดีมากขึ้น พอจะใช้สัญจรไปมาได้ ใช้น้ำจากคลองรังสิตได้บ้าง ผลสรุปภาพรวมของหัวหน้าครัวเรือนตัวอย่างเกี่ยวกับการค้าขายบริเวณริมคลองรังสิต ตอบว่ามีผลกระทบร้อยละ 92.5 ไม่มีผลกระทบร้อยละ 7.5 ข้อเสนอแนะ มาตรการระยะสั้น 1) จัดให้มี Buffer Zone ริมคลองป้องกันการรุกล้ำที่ดินริมคลอง โครงการชลประทานรังสิตใต้ต้องบังคับใช้กฎหมายกับบ้านบุกรุกที่ดินริมคลองอย่างเคร่งครัด ร่วมกับหน่วยงานอื่นหาที่อยู่ให้ 2) ให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมใช้ประโยชน์จากคลอง ขุดลอกคลองให้ลึก กรมประมงนำพันธ์ปลา กุ้ง มาปล่อยให้เจริญเติบโตตามธรรมชาติ ให้คนมีความรู้สึกว่าต้องพึงพาอาศัยน้ำในคลองเพื่อยังชีพ ทำให้พร้อมที่จะดูแลรักษา โดยไม่ต้องให้ใครมาบอก 3) จัดตั้งคณะทำงานด้านการอนุรักษ์คลอง โดยมีทั้งภาครัฐ เอกชน ประชาชน มาตรการระยะยาว 1) จัดแบ่งพื้นที่ในแต่ละประเภทให้ชัดเจน พื้นที่อุตสาหกรรม ต้องมี Buffer Zone กั้นไม่ให้ชุมชนรุกล้ำเข้ามาอยู่ใกล้พื้นที่ที่จัดไว้เพื่ออุตสาหกรรม จัดพื้นที่อยู่อาศัย และมีพื้นที่สีเขียว นอกจากทำให้การใช้ที่ดินเป็นไปอย่างเหมาะสมและถูกต้องแล้วยังทำให้มีภูมิทัศน์ที่ดี 2) ควรให้ภาครัฐ เอกชน ประชาชน มีส่วนร่วมทำกิจกรรมด้วยกัน ปลูกจิตสำนึกให้ประชาชนเห็นความสำคัญของคลอง ผูกสัมพันธ์กับลำน้ำสายนี้ ควรทำอย่างสม่ำเสมอและระยะยาว