Abstract:
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อทำการพยากรณ์ค่าอัตรามรณะของประชากรไทยในอีก 10 ปีข้างหน้า โดยใช้วิธีการพยากรณ์ 3 วิธี คือ 1. ตัวแบบลี-คาร์เตอร์ (Lee Carter Models) 2. ตัวแบบลี-คาร์เตอร์โดยใช้ฟัซซีฟอร์มูเลชั่น (Fuzzy formulation of the Lee-Carter Models) และ 3. วิธีการแปลงของ แวง (Wang Transform) นอกจากนี้ได้ทำการเปรียบเทียบค่าประมาณจาก 3 วิธี ด้วยการวิเคราะห์ค่ารัอยละค่าสัมบูรณ์ของความคลาดเคลื่อนเฉลี่ย (Mean Absolute Percent Error : MAPE) ข้อมูลที่ใช้คือจำนวนประชากร ณ วันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2540 – 2551 จากกระทรวงมหาดไทย และจำนวนการตายใน ปี พ.ศ. 2541 – 2551 จากกระทรวงสาธารณสุข จำแนกตามเพศและอายุรายปี ผลการศึกษาพบว่า ตัวแบบลี – คาร์เตอร์เป็นตัวแบบที่มีค่า MAPE เฉลี่ยต่ำที่สุดทั้งในเพศชายและเพศหญิง แต่หากพิจารณารายอายุ วิธีการแปลงของ แวง จะมีช่วงอายุที่ให้ค่า MAPE ต่ำที่สุดในเพศชายมากที่สุด และในเพศหญิงตัวแบบที่มีช่วงอายุที่ให้ค่า MAPE ต่ำ ที่สุดคือตัวแบบลี – คาร์เตอร์ นอกจากนี้ยังพบว่าค่าพยากรณ์อัตรามรณะในอีก 10 ข้างหน้าของทั้ง 3 ตัวแบบให้ค่าที่เป็นไปในทิศทางเดียวกันคือมีลักษณะลดลงอย่างช้าๆ โดยในช่วง อายุ 1 ปี และช่วงอายุประมาณ 20 ปี ถึง 40 ปีอัตรามรณะจะมีแนวโน้มลดลงเร็วกว่าช่วงอายุอื่นเล็กน้อย