Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ มุ่งศึกษาถึงการดำเนินการของไทยในการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ด้านแรงงานข้ามชาติ ภายใต้กรอบบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์และความร่วมมือด้านการจ้างแรงงานกับประเทศเพื่อนบ้าน คือ ประเทศพม่า ลาว และกัมพูชา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาถึงการนำบันทึกความเข้าใจระหว่างไทยกับทั้งสามประเทศไปปฏิบัติให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม โดยผู้วิจัยได้นำแนวความคิดเรื่องหลักการสิทธิมนุษยชนมาเป็นกรอบในการวิเคราะห์อีกด้วย จากการศึกษาพบว่า ประเทศไทยได้มีความร่วมมือในทางปฏิบัติกับประเทศเพื่อนบ้านโดยมีการดำเนินการที่เป็นไปตามข้อกำหนดส่วนใหญ่ที่ได้ระบุไว้ในบันทึกความเข้าใจ โดยที่การแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ในทางปฏิบัตินั้นจะอยู่ภายใต้กรอบการดำเนินการ 4Ps ได้แก่ การดำเนินการด้านนโยบาย (Policy) การปกป้องคุ้มครอง (Protection) การป้องกัน (Prevention) และการดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิด (Prosecution) และการดำเนินการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ยังอยู่ภายใต้กรอบการดำเนินการ 3Rs อันประกอบไปด้วยการบำบัดฟื้นฟูผู้เสียหาย (Recovery) การส่งกลับคืนสู่ภูมิลำเนา (Repatriation) และการส่งเหยื่อกลับคืนสู่สังคม (Reintegration) อีกด้วย นอกจากนี้ จากการศึกษายังพบว่าการที่เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ได้ปฏิบัติหน้าที่ได้ดีและมีความเหมาะสม รวมทั้งยังเคารพในสิทธิมนุษยชนของเหยื่อจากการค้ามนุษย์ด้วยนั้น ย่อมจะขึ้นอยู่กับเรื่องของความรู้ความเข้าใจในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ รวมทั้งยังขึ้นอยู่กับว่าเจ้าหน้าที่มีผลประโยชน์ร่วมกับนายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการ หรือรู้เห็นเป็นใจกับการกระทำความผิดด้านแรงงานของนายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการหรือไม่อีกด้วย