Abstract:
นิตยสารสตรีของไทยมีกำเนิดจากเล่มแรก คือ นารีรมย์ ในปลายปี พ.ศ. 2431 จัดทำโดย กรมหมื่นมหิศรราชหฤทัย จากปี พ.ศ. 2431 จนถึงปี พ.ศ. 2531 ช่วงเวลา 100 ปีนี้ ได้มีนิตยสารสตรีเกิดขึ้นติดต่อกันมากมาย นับได้ถึง 130 ฉบับ ช่วงเวลายาวนานนี้เราอาจจะแบ่งนิตยสารสตรีออกได้เป็น 5 ยุคคือ ยุค 1 ยุคการปลุกสำนึกในด้านการฝ่าหาความรู้และสิทธิของสตรีไทย (พ.ศ. 2431-2475) มีเนื้อหาให้ความรู้ ความคิดต่าง ๆ ที่ทันสมัย ปลุกให้สตรีเห็นความสำคัญของการศึกษา หาความรู้ และสิทธิของสตรีด้วย มีนิตยสารสตรีในยุคที่ 1 8 ฉบับ ยุคนี้ข่วงแรกผู้จัดทำนิตยสารสตรีมักจะเป็นผู้ชาย นิยมใช้ร้อยกรองหรือบทกวี เช่น นารีรมย์ บำรุงนารี กุลสัตรี สตรีนิพนธ์ สตรีศัพท์ สตรีไทย สยามยุพดี และนารีนาถ ยุค 2 ยุคมืดจองนิตยสารสตรี (มิถุนายน 2475-2489) ยุคนี้มีเหตุการณ์ทางการเมืองเกิดขึ้น เช่นการเปลี่ยนแปลงการปกครอง สงครามโลกครั้งที่ 2 ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ รวมถึงนโยบายการปฏิวัติวัฒนธรรมในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ด้วย เหล่านี้ล้วนทำให้นิตยสารสตรีถูกลืมหายไปเกือบ 13 ปี มีเพียง 3 ฉบับในช่วงนี้ คือ หญิงไทย ประมวลมารค และสวนอักษร ยุค 3 ยุคตื่นตัวของนิตยสารสตรี (พ.ศ. 2490-2500) ในช่วงนี้มีนิตยสารสตรีกลับฟื้นคนมาในโลกของนิตยสารอีก มีนิตยสารสตรีเกิดขึ้นหลายฉบับ แม้ว่าระยะต้น ๆ ภาวะเศรษฐกิจจะยังตกต่ำอยู่ เนื้อหาเน้นทางด้านบันเทิงและแม่บ้านการเรือน มีนิตยสารสตรีเกิดในยุคนี้ 25 ฉบับ ที่สำคัญในยุคนี้ คือ สตรีสาร สกุลไทย กุลสตรี เดลิเมล์วันจันทร์ ศรีสัปดาห์ เพลินจิตต์ และเรวดี ยุค 4 ยุคนวนิยายพาฝัน (พ.ศ. 2501-2516) ในยุคนี้มินิตยสารเกิดขึ้นอีก 23 ฉบับ แม้สภาพบ้านเมืองจะตกอยู่ในยุคของเผด็จการ ส่งผลให้เรื่องราวเนื้อหาของนิตยสารสตรีเป็นเฉพาะด้านบันเทิง เต็มไปด้วยนวนิยายพาฝัน นักเขียนดัง ๆ เกิดขึ้นในยุคนี้ เช่น กัญญชลา ทมยันตี บุษยมาส นิตยสารที่สำคัญ ได้แก่ ขวัญเรือน ดรุณี สตรีไทย คุณหญิง และลลนา เกิดขึ้นในปลายยุคนี้ ยุค 5 ยุคข่าวสารและความหลากหลายของนิตยสารสตรี (2516-2531) เป็นยุคที่มีความเปลี่ยนแปลงในด้านเนื้อหาที่ให้ข่าวสารและความรู้หลายด้านมากขึ้น เพราะความเจริญทางด้านเทคโนโลยีและการสื่อสาร ข่าวสารและความรู้ด้านต่าง ๆจึงมีความสำคัญมาก ในยุคนี้มีนิตยสารเกิดขึ้นมากถึง 64 ฉบับ ที่สำคัญได้แก่ ดิฉัน แพรว หญิง หญิงไทย สตรีทัศน์ และจันทร์ ฯลฯ