Abstract:
ในปัจจุบันจำนวนผู้เล่นกีฬากอล์ฟในประเทศไทยเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก สิ่งหนึ่งที่สำคัญซึ่งส่งผลให้สามารถเล่นกีฬากอล์ฟได้ดี คือต้องมีการเตรียมความพร้อมของร่างกายโดยการพัฒนาความมั่นคงของส่วนแกน เนื่องจากการแสดงทักษะในกีฬากอล์ฟประกอบด้วยการเคลื่อนไหวที่ซับซ้อน ต้องอาศัยความมั่นคงของส่วนแกนในการที่จะควบคุมร่างกายเพื่อให้เกิดความแม่นยำในขณะสวิงกอล์ฟ การศึกษาวิจัยในครั้งนี้ต้องการเปรียบเทียบผลของการฝึกความมั่นคงของส่วนแกนของร่างกายบนพื้นผิวอุปกรณ์ที่มั่นคงและไม่มั่นคง ที่มีผลต่อการพัฒนาประสิทธิภาพของการสวิงกอล์ฟ ผู้เข้าร่วมวิจัยเป็นนักกีฬากอล์ฟระดับสมัครเล่นจำนวน 37 คน และตีวงขวา
(เพศชาย 26 คน และเพศหญิง 11 คน) อายุระหว่าง 12-22 ปี, แต้มต่อระหว่าง 0-18, และไม่มีอาการปวดหลังส่วนล่าง แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มควบคุม (13 คน), กลุ่มฝึกบนพื้นที่ที่มั่นคง (12 คน), กลุ่มฝึกบนพื้นที่ที่ไม่มั่นคง (12 คน) ทำการฝึกตามโปรแกรมที่กำหนดขึ้นเป็นเวลา 8 สัปดาห์ เก็บข้อมูลก่อนและหลังทำการทดลอง โดยให้ผู้เข้าร่วมทดลองสวิงด้วยหัวไม้ 1 ตามทักษะการสวิงของตนเองทั้งสิ้น 3 ครั้ง ขณะเดียวกันข้อมูลจะถูกบันทึกโดยกล้องจับภาพความเร็วสูงแบบสามมิติ จำนวน 4 ตัว ที่ความเร็ว 500 ภาพต่อวินาที จากนั้นค่าตัวแปรทางคิแนเมติคส์ของการสวิงกอล์ฟจะถูกวิเคราะห์โดยโปรแกรมวิเคราะห์การเคลื่อนไหว ซึ่งได้แก่ ความเร็วหัวไม้, เวลาที่ใช้ในการสวิง, องศาการหมุนของหัวไหล่และสะโพก, ค่าความแตกต่างขององศาการหมุนของหัวไหล่และสะโพก ข้อมูลจากการทดลองทั้งหมดจะถูกนำมาทดสอบทางสถิติที่ระดับนัยสำคัญ .05 โดยใช้การทดสอบหาค่า ที และการวิเคราะห์ความแปรปรวนแบบทางเดียว ผลการศึกษาวิจัยพบว่า หลังจากทำการฝึกบนพื้นที่ที่มั่นคงและไม่มั่นคงเป็นเวลา 8 สัปดาห์ ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงค่าเฉลี่ยของความเร็วหัวไม้สูงสุดเพิ่มขึ้นอย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ และทำให้องศาการหมุนของสะโพกของทั้ง 2 กลุ่มทดลอง มีค่าลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P< .05) รวมทั้งมีการเพิ่มขึ้นของค่าความแตกต่างขององศาการหมุนของหัวไหล่และสะโพกของทั้ง 2 กลุ่มทดลอง อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P< .05) ทั้งนี้ยังพบอีกด้วยว่ามีความแตกต่างของค่าการหมุนของสะโพกระหว่างกลุ่มทดลองทั้ง 2 กลุ่มกับกลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P< .05) และพบความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P< .05) ของค่าความแตกต่างขององศาการหมุนของหัวไหล่และสะโพกในกลุ่มที่ฝึกบนพื้นที่ที่มั่นคงกับกลุ่มควบคุม ในขณะที่ค่าตัวแปรอื่นๆไม่พบว่ามีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเมื่อเปรียบเทียบระหว่างกลุ่มทดลองกับกลุ่มควบคุม เพราะฉะนั้นอาจจะสรุปได้ว่า การเพิ่มความมั่นคงของส่วนแกนของร่างกายสามารถที่จะเพิ่มประสิทธิภาพในการสวิงกอล์ฟและลดความเสี่ยงต่ออาการบาดเจ็บหลังส่วนล่างได้