Abstract:
การวิจัยครั้งนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อศึกษาถึงความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยด้านสังคมและเศรษฐกิจการดูโทรทัศน์ และทัศนคติของวัยรุ่นในกรุงเทพมหานคร กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาได้แก่ นักเรียนชั้นมัธยมปีที่ 1, 2 และ 3 ของโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และโรงเรียนจันทร์หุ่นบำเพ็ญ โรงเรียนละ 100 คน รวม 2 โรงเรียน 200 คน เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล ได้แก่ แบบสอบถาม การวิเคราะห์ข้อมูลใช้การแจกแจงความถี่และค่าร้อยละ การหาค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์แบบเพียร์สัน การหาค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์แบบพาร์เชียล และการวิเคราะห์ถดถอยพหุคูณแบบเป็นขั้น ซึ่งประมวบผลโดยคอมพิวเตอร์โปรแกรมสำเร็จรูป SPSS สาระสำคัญของการวิจัยปรากฏผลดังนี้ 1. วัยรุ่นทุกคนมีโอกาสดูโทรทัศน์ รายการโทรทัศน์ที่วัยรุ่นนิยมดูมากที่สุด ได้แก่ ข่าว ภาพยนตร์ เกมต่าง ๆ ดนตรีและเพลง และกีฬา ตามลำดับ วัยรุ่นส่วนใหญ่ (161 คน หรือ 80.5%) ดูโทรทัศน์กับคนในครอบครัว2. เพศ โรงเรียน สถานะทางสังคมและเศรษฐกิจของครอบครัว และความสัมพันธ์ของบิดา มารดาไม่มีความสัมพันธ์กับความบ่อบครั้งและระยะเวลาในการดูโทรทัศน์ และความบ่อยครั้งในการดู "รายการข่าวและความรู้" แต่มีความสัมพันธ์เชิงบวกกับความบ่อยครั้งในการดู "รายการบันเทิง" 3. ความบ่อยครั้งและระยะเวลาที่ดูโทรทัศน์กับความบ่อยครั้งที่ดู "รายการข่าวและความรู้" ไม่มีความสัมพันธ์กับรสนิยม ความก้าวร้าวรุนแรง และศีลธรรม และความถูกต้อง แต่ความบ่อยครั้งที่ดู "รายการบันเทิง" มีความสัมพันธ์เชิงบวกกับรสนิยมและความก้าวร้าวรุนแรง และความมีความสัมพันธ์เชิงลบกับศีลธรรมและความถูกต้อง 4. เพศไม่มีความสัมพันธ์กับรสนิยม แต่มีความสัมพันธ์เชิงลบกับความก้าวร้าวรุนแรงส่วนโรงเรียน สถานะทางสังคมและเศรษฐกิจของครอบครัวและความสัมพันธ์ของบิดามารดามีความสัมพันธ์เชิงบวกกับรสนิยมและความก้าวร้าวรุนแรง ทั้ง 4 ตัวแปรไม่มีความสัมพันธ์กับศีลธรรมและความถูกต้อง 5. เมื่อควบคุมตัวปรการดูโทรทัศน์ เพศไม่มีความสัมพันธ์กับรสนิยม แต่ก็ยังมีความสัมพันธ์เชิงลบกับความก้าวร้าวรุนแรง ส่วนโรงเรียน สถานะทางสังคมและเศรษฐกิจของครอบครัวและความสัมพันธ์ของบิดามารดายังคงมีความสัมพันธ์เชิงบวกกับรสนิยมและความก้าวร้าวรุนแรง ตัวแปรทั้ง 4 ไม่มีความสัมพันธ์กับศีลธรรมและความถูกต้อง 6. ตัวแปรที่สามารถใช้อธิบายรสนิยมเรียงตามลำดับความสำคัญ ได้แก่ 1) โรงเรียน หรือสถานะทางสังคมและเศรษฐกิจของครอบครัว 2) ความบ่อยครั้งที่ดู "รายการข่าวและความรู้" 3) ความบ่อยครั้งที่ดู "รายการบันเทิง" ตัวแปรที่สามารถใช้อธิบายความก้าวร้าวรุนแรงเรียงตามลำดับความสำคัญ ได้แก่ 1) โรงเรียนหรือสถานะทางสังคมและเศรษฐกิจของครอบครัว 2) ความบ่อยครั้งและระยะเวลาที่ดูโทรทัศน์ 3) ความบ่อยครั้งที่ดู "รายการบันเทิง" 4) เพศ ไม่มีตัวแปรใดเลยที่สามารถใช้อธิบายศีลธรรมและความถูกต้องได้