Abstract:
ไทยมีประเทศเพื่อนบ้านล้อมรอบอยู่ทั้งสี่ด้าน ทิศเหนือและทิศตะวันออกมีพรมแดนติดต่อกับลาวระยะทาง 1750 กิโลเมตร รายการวิทยุและโทรทัศน์ฝั่งหนึ่งจึงข้ามพรมแดนไปสู่อีกฝั่งหนึ่งตลอดเวลา การวิจัยมุ่งศึกษาทัศนคติและผลกระทบของสื่อกระจายเสียงข้ามวัฒนธรรมที่มีต่อประเทศผู้รับที่อยู่ตรงข้าม ใช้วิธีการวิจัยเชิงคุณภาพเป็นหลัก และวิธีเชิงปริมาณเป็นส่วนเสริม วิเคราะห์และสังเคราะห์ผลด้วยศาสตร์สหวิทยาการ บูรณาการเป็นแนวทางการนำเสนอ 3 แนวคือ เนื้อหาครอบคลุมกว้างขวาง ใช้ทฤษฎีหลากหลายมิติ และยึดปทัสถานของสื่อมวลชนเป็นเกณฑ์ ผลการวิจัยพบว่า ฐานะทางเศรษฐกิจที่เหนือกว่าทำให้สื่อกระจายเสียงไทยได้เปรียบลาวในด้านจำนวนคลื่นวิทยุที่ข้ามไปจากไทย จำนวนชั่วโมงออกอากาศที่ต่อเนื่องและยาวนานกว่า เทคโนโลยีที่ทันสมัย และทุนการดำเนินงานที่สูงกว่ามาก ความแตกต่างในระบบการเมืองยังทำให้หน้าที่ของสื่อทั้งสองระบบแตกต่างกัน ส่งผลให้รายการของไทยมีลักษณะตามใจตลาด สามารถสร้างแรงดึงดูดผู้ชมได้มากกว่าสื่อของลาวซึ่งถูกกำหนดให้ทำหน้าที่ทางการเมือง การวิจัยด้านแบบสอบถามพบว่า ประชาชนชาวไทยในจังหวัดชายแดนซึ่งอยู่ในรัศมีที่รับคลื่นวิทยุจากลาวใต้ ร้อยละ 80.3เคยรับสื่อจากลาว แต่เป็นการรับโดย 'บังเอิญ' ในจำนวนนี้มีร้อยละ 4.25 เท่านั้นที่ระบุว่าตั้งใจเปิดรับ เช่น ฝ่ายความมั่นคงเฝ้าฟังข่าวในภาวะที่มีเหตุการณ์ไม่ปกติ สื่อมวลชนไทยเปิดรับเพื่อดูการเปลี่ยนแปลงของสื่อในลาว ส่วนประชาชนดูหรือฟังเป็นบางครั้งเมื่อเห็นรายการบางอย่างแปลกไปจากรายการของไทย หรือดูถ่ายทอดสดการแข่งขันกีฬาเพราะไม่มีโฆษณารบกวน อย่างไรก็ตามพฤติกรรมการเปิดรับสื่อจากลาวของคนไทยยังไม่อาจจัดว่าเป็น "ผู้รับสาร" ที่แท้จริงตามความหมายที่ยอมรับกันทั่วไป ทางด้านสื่อจากไทย ด้วยอุปกรณ์จานรับดาวเทียมของประชาชนประมาณ 30000 เครื่องทั่วประเทศ ปัจจุบันรายการวิทยุและโทรทัศน์ของไทยสามารถเจาะลึกไปถึงชายแดนลาวด้านที่ติดกับจีนและเวียดนาม เข้าถึงประชาชนลาวประมาณร้อยละ 70-75 แต่ที่สำคัญก็คือร้อยละ ร้อย (100%) ของคนลาวที่มีเครื่องรับวิทยุและโทรทัศน์คือผู้รับสื่อไทยที่แท้จริง สื่อกระจายเสียงของไทยจึงเข้าไปครอบงำลาว ทำให้ลาวอยู่ในสภาพที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออก พยายามหามาตรการมาปกป้องแต่ก็ไม่บังเกิดผลในทางปฏิบัติ งานวิจัยได้ชี้ให้เห็นผลกระทบของสื่อกระจายเสียงไทยต่อเศรษฐกิจ การเมือง จิตวิทยา ภาษา วัฒนธรรม รวมถึงผลต่อระบบกระจายเสียงของลาวเอง วิเคราะห์ทัศนคติของผู้รับสารที่มีต่อรายการวิทยุและโทรทัศน์ของไทย ซึ่งเห็นความแตกต่างอย่างชัดเจนตามภูมิหลังส่วนตัวและสถานภาพทางสังคมของแต่ละกลุ่มคน งานวิจัยมีข้อค้นพบว่า การเปลี่ยนแปลงของสังคมเป็นกระบวนการที่สลับซับซ้อน สื่อเป็นเพียงปัจจัยหนึ่งของการเปลี่ยนแปลง สื่อกระจายเสียงของไทยไม่ได้ก่อผลกระทบต่อลาวมากมายอย่างที่คิด เพราะโครงสร้างการเมืองแบบสังคมนิยมและเศรษฐกิจที่ยังยากจนของลาวคอยทำหน้าที่ปกห้องคุ้มกันความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นจากสื่อไทย แต่ในอนาคตมีแนวโน้มว่าการเปลี่ยนแปลงด้านนโยบาย โดยเฉพาะการเปิดเสรีทางเศรษฐกิจของผู้นำลาวจะช่วยเสริมพลังให้แก่สื่อไทยในการรุกรานวัฒนธรรมลาวและทำให้วิถีชีวิตแบบดั้งเดิมของลาวเบี่ยงเบนไป งานวิจัยได้เสนอทางออกให้แก่ความสัมพันธ์ทางสื่อระหว่างไทยและลาวด้วยหลักธรรมแห่งพุทธศาสนาซึ่งเป็นวิธีการแก้ปัญหาแบบเอเชีย