Abstract:
การศึกษาการสื่อสารเรื่องเพศในสังคมไทยเป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ มีวัตถุประสงค์เพื่อทำความเข้าใจกับปรากฏการณ์และสภาพปัญหาการสื่อสารเรื่องเพศในสังคมไทย การทบทวนแนวคิดทฤษฎีและองค์ความรู้ ซึ่งจะนำไปสู่การนำเสนอแนวนโยบายการสื่อสารเรื่องเพศในอนาคต การวิจัยประกอบด้วยการวิเคราะห์ 3 ส่วนหลัก คือ การทบทวนและเรียบเรียงแนวคิดทฤษฎี จากเอกสารวิชาการทั้งในและต่างประเทศ การทบทวนการวิจัยเรื่องเพศในช่วงปี พ.ศ. 2540-2545 และการวิเคราะห์ปรากฏการณ์การสื่อสารบนสื่อมวลชนด้วยวิธีวาทกรรมโดยเน้นหนักที่สื่อหนังสือพิมพ์ จากการรวบรวมแนวคิดทฤษฎีพบว่า เรื่องเพศประกอบด้วยความรู้ 3 ส่วนหลัก คือ เพศสรีระ (sex) เพศสภาพ (gender) และเพศวิถี (sexuality) และเรื่องเพศเป็นการประกอบสร้างความหมายผ่านรูปแบบปฏิบัติการวาทกรรม แนวทางการศึกษาเรื่องเพศมีประวัติศาสตร์เริ่มจากการศึกษาเพศแนวสารัตถะที่เน้นการศึกษาเพศในระบบชีววิทยา หลังจากนั้นการศึกษาแนวจิตวิทยา แนวปฏิสัมพันธ์เชิงสัญลักษณ์แนววัฒนธรรมศึกษา และสตรีนิยมจึงเกิดขึ้นตามมา การวิจัยเรื่องเพศและการสื่อสารในประเทศไทยยังเน้นการศึกษาแนว KAP โดยมุ่งเน้นการวัดความรู้สึกนึกคิดและพฤติกรรมของปัจเจกบุคคลที่สัมพันธ์กับการเปิดรับสื่อมากกว่าการศึกษาเชิงสังคมและวัฒนธรรม ผลจากการศึกษาชี้ว่าความรู้แบ่งออกเป็น 7 ส่วนหลัก คือ เนื้อหาสื่อที่นำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับเพศ การใช้สื่อแบะการสื่อสารกับเพศศึกษา การเปิดรับสื่อที่นำเสนอเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องเพศ สื่อและการสื่อสารกับโรคเอดส์ พฤติกรรมเสี่ยงทางเพศ และนโยบายสื่อทางเพศ การสังเคราะห์องค์ความรู้ทั้ง 7 ส่วนทำให้ได้ข้อสรุปว่าการศึกษาเพศเน้นที่การศึกษาตัวสื่อและผู้รับสารบางกลุ่ม ขาดการศึกษาเชิงกระบวนการ และการศึกษาที่ครอบคลุมทุกกลุ่มคนในสังคม การวิเคราะห์วาทกรรมทางเพศในสื่อหนังสือพิมพ์พบว่า อุดมการณ์หลักเรื่องเพศคือเพศสรีระซึ่งนำเสนอผ่านวาทกรรมกลุ่มต่าง ๆ ได้แก่ วาทกรรมความรุนแรงทางเพศ วาทกรรมเพศสรีระและความงาม วาทกรรมเพศแบบดั้งเดิม ความหมายทางเพศลดรูปเหลือเพียงความหมายเพียงส่วนเสี้ยวและภาพเหมารวมสะท้อนให้เห็นสภาพปัญหาของการสื่อสารเรื่องเพศในสังคมไทยอย่างชัดเจน ผลจากการวิจัยไปสู่ข้อเสนอแนะสำคัญสำหรับรัฐ สื่อมวลชน และภาคประชาชนและภาควิชาการ คือ การปรับกลไกการสร้างความเป็นจริงผ่านวาทกรรมเรื่องเพศให้มีคุณธรรมมากขึ้นโดยเน้นให้เกิดการบูรณาการของความรู้ ความเข้าใจเรื่องเพศจากหลากหลายมิติ สาขาวิชา และหลากหลายกลุ่มทางสังคม