Abstract:
งานวิจัยเรื่องนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาลักษณะสำคัญของคณะผู้แทนการค้าของประเทศไทย ได้แก่ องค์ประกอบของคณะผู้แทนการค้า การคัดเลือกหน่วยงานเอกชนเข้าร่วมในคณะผู้แทนการค้า กฎเกณฑ์ระเบียบต่าง ๆ ฯลฯ และศึกษาบทบาทของคณะผู้แทนการค้าในฐานะนักสื่อสารทางการตลาด พร้อมทั้งประเมินประสิทธิผลของคณะผู้แทนการค้าของไทย ภายหลังการศึกษาและประเมินแล้วได้ให้ข้อเสนอแนะและข้อคิดเห็นเพื่อการปรับปรุง อุตสาหกรรมที่คัดเลือกมาศึกษา คือ อุตสาหกรรมส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูป การศึกษาจำกัดอยู่เฉพาะช่วงปี 2529 และ 2530 และเน้นคณะผู้แทนการค้าไทยที่เดินทางไปตลาดต่างประเทศ การวิจัยเป็นการวิจัยเชิงสำรวจ ใช้การสุ่มตัวอย่างแบบช่วงชั้น กลุ่มตัวอย่างที่ตอบแบบสอบถามส่วนหนึ่งเป็นประชากร คือ เป็นผู้ที่ได้ไปร่วมกับคณะผู้แทนการค้าในปี 2529 และ 2530 มีผู้ตอบเป็นจำนวน 37 จาก 54 และได้ไปยัง 3 ตลาด คือ ตลาดออสเตรเลีย ตลาดยุโรป (อังกฤษ ฝรั่งเศส อิตาลี เยอรมันตะวันตก) และตลาดญี่ปุ่น อีกส่วนหนึ่งของผู้ตอบแบบสอบถาม คือ ผู้ที่ไม่ได้ไปร่วมกับคณะผู้แทนการค้าในปี 2529 และ 2530 แต่อยู่ใน Thailand's Exporters : Selected List of 1987 ซึ่งจัดโดยกรมพาณิชย์สัมพันธ์ ในกลุ่มหลังนี้ ผู้วิจัยได้สุ่มตัวอย่างมา 54 ราย เพื่อทำการสัมภาษณ์เช่นเดียวกับกลุ่มแรก มีผู้ตอบแบบสอบถามมา 36 ราย ผลการวิจัยมีดังนี้ คณะผู้แทนการค้าที่เดินทางไปตลาดต่างประเทศ โดยทั่วไปประกอบด้วยเจ้าหน้าที่ของกรมพาณิชย์สัมพันธ์ในฐานะที่ปรึกษา และบริษัทเอกชนที่ยื่นใบสมัครเข้ามา และผ่านการคัดเลือก บริษัทเอกชนเหล่านี้จะอยู่ใน Thailand's Exporters : Selected List ซึ่งรวบรวมโดยกรมพาณิชย์สัมพันธ์ และต้องได้รับการกลั่นกรองทั้งทางด้านสถานการณ์เงิน ประสบการณ์การส่งออก มูลค่าการส่งออก สมาชิกภาพขององค์การที่เกี่ยวข้องกับการส่งออก ประวัติของบริษัทและความพร้อมในการส่งออก สมมติฐานที่ใช้ในการวิจัยมีดังนี้ คือ สมมุติฐานที่ 1 อัตราเพิ่มของยอดส่งออกของปี พ.ศ. 2529 และปี 2530 ไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญระหว่างผู้ที่ไปและผู้ที่ไม่ได้ไปกับคณะผู้แทนการค้า (ตลาดออสเตรเลีย ตลาดยุโรป และตลาดญี่ปุ่น) สมมุติฐานที่ 2 อัตราเพิ่มของยอดส่งออกของปี พ.ศ. 2529 และปี 2530 ไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญระหว่างธุรกิจขนาดเล็กและธุรกิจขนาดใหญ่ หลังกลับจากการไปค้าขายกับคณะผู้แทนการค้าแล้ว (ธุรกิจขนาดเล็ก คือ ธุรกิจที่มีเงินทุนจดทะเบียนต่ำกว่า 10 ล้านมาก ธุรกิจขนาดใหญ่ คือ ธุรกิจที่มีเงินทุนจดทะเบียน 10 ล้านบาทขึ้นไป) สมมุติฐานที่ 3 อัตราเพิ่มของยอดส่งออกของปี พ.ศ. 2529 และปี 2530 ไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญระหว่างธุรกิจเล็กที่เข้าร่วมคณะผู้แทนการค้าและธุรกิจเล็กที่ไม่ได้เข้าร่วมคณะผู้แทนการค้า สมมุติฐานที่ 4 อัตราเพิ่มของยอดส่งออกของปี พ.ศ. 2529 และปี 2530 ไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญระหว่างธุรกิจใหญ่ที่เข้าร่วมคณะผู้แทนการค้าและธุรกิจใหญ่ที่ไม่ได้เข้าร่วมคณะผู้แทนการค้า สมมุติฐานที่ 5 ธุรกิจขนาดเล็กและธุรกิจขนาดใหญ่ที่ได้ไปร่วมคณะผู้แทนการค้ามองบทบาทของคณะผู้แทนการค้าในฐานะนักสื่อสารการตลาดที่มีประสิทธิภาพอย่างไม่แตกต่างกันโดยมีนัยสำคัญ สมมุติฐานที่ 6 บริษัทที่ได้ไปร่วมกับคณะผู้แทนการค้าไม่ได้ให้ลำดับความสำคัญที่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญสำหรับปัจจัยที่มีผลต่อการส่งออก ระหว่างบทบาทที่น่าเชื่อถือของคณะผู้แทนการค้า คุณภาพของสินค้า ราคาของสินค้า ประวัติของบริษัท ประสบการณ์การส่งออก รูปแบบของสินค้า ฯลฯ ผลการวิจัยสรุปได้ดังนี้ สมมุติฐานที่ 1 ผลการวิจัยแสดงว่า ยอมรับสมมุติฐานที่ตั้งไว้ ซึ่งหมายความว่า อัตราเพิ่มของยอดส่งออกของปี 2529 และ 2530 ระหว่างผู้ที่ไปและผู้ที่ไม่ได้ไปกับคณะผู้แทนการค้าไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ สมมุติฐานที่ 2 ผลการวิจัยยอมรับสมมุติฐานที่ตั้งไว้ นั่นคือ อัตราเพิ่มของยอดส่งออกของปี 2529 และปี 2530 ของธุรกิจขนาดเล็กและธุรกิจขนาดใหญ่ หลังจากการกลับจากการไปกับคณะผู้แทนการค้าแล้ว ไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ สุมมติฐานที่ 3 ผลการวิจัยไม่ยอมรับสมมุติฐานที่ตั้งไว้ นั่นคือ อัตราเพิ่มของยอดส่งออกของปี พ.ศ. 2529 และปี 2530 แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญระหว่างธุรกิจเล็กที่เข้าร่วมคณะผู้แทนการค้าและธุรกิจเล็กที่ไม่ได้เข้าร่วมคณะผู้แทนการค้า สมมุติฐานที่ 4 ผลการวิจัยยอมรับสมมุติฐานที่ตั้งไว้ นั่นคือ อัตราเพิ่มของยอดส่งออกของปี พ.ศ. 2529 และปี 2530 ไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญระหว่างธุรกิจขนาดใหญ่ที่เข้าร่วมคณะผู้แทนการค้าและที่ไม่ได้เข้าร่วมคณะผู้แทนการค้า สมมุตติฐานที่ 5 ผลการวิจัยยอมรับสมมุติฐานที่ตั้งไว้ นั่นคือ ธุรกิจขนาดเล็กและธุรกิจขนาดใหญ่ที่ได้ไปร่วมคณะผู้แทนการค้ามองบทบาทคณะผู้แทนการค้าในฐานะนักสื่อสารการตลาดที่มีประสิทธิภาพ โดยไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ สมมุติฐานที่ 6 ผลการวิจัยพบว่า บริษัทต่าง ๆ ที่เข้าร่วมคณะผู้แทนการค้าได้ให้ลำดับความสำคัญที่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญสำหรับปัจจัยที่มีผลต่อการส่งออก โดยให้ความสำคัญของคุณภาพของสินค้าและวัตถุดิบเป็นอันดับหนึ่ง รองลงมาคือ ราคาของสินค้า และการส่งมอบที่ตรงต่อเวลาตามลำดับ ส่วนความน่าเชื่อถือของคณะผู้แทนการค้าเป็นปัจจัยเสริม จากผลการวิจัยนี้ เราพอสรุปได้ว่า การเข้าร่วมคณะผู้แทนการค้าจะเป็นปัจจัยส่งเสริมการตลาดที่ทำให้การส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปประสบผลสำเร็จโดยเฉพาะกับธุรกิจขนาดเล็ก อย่างไรก็ตาม มีข้อเสนอแนะสำหรับการปรับปรุง เพื่อให้คณะผู้แทนการค้ามีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ที่สำคัญ ๆ ได้แก่ การปรับปรุงระบบข้อมูลทางด้านการตลาด การเงิน ภาษีอากร และกฎหมาย การเพิ่มหน่วยจัดทำข้อมูลประเภท intelligence การประสานงาน และการร่วมงานแผนระหว่างบริษัทผู้ส่งออก กรมพาณิชสัมพันธ์ และศูนย์พาณิชยกรรมไทยในต่างประเทศในการทำประชาสัมพันธ์และนัดหมายลูกค้า การกระชับความร่วมมือกันระหว่างภาครัฐบาลและภาคเอกชน ในการแก้ปัญหาโควตาและการหาตลาดใหม่ที่ไม่มีปัญหาโควต้า