Abstract:
การศึกษาเรื่องอัตลักษณ์และการท่องเที่ยว มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อศึกษาอัตลักษณ์และความเป็นชาติพันธุ์ของผู้ไทบ้านภูทั้งในชีวิตประจำวันของชาวบ้านรวมทั้งในบริบทของการท่องเที่ยว การศึกษาครั้งนี้ใช้กรอบแนวคิดเรื่องอัตลักษณ์และความเป็นชาติพันธุ์ รวมทั้งพิจารณากิจกรรมการท่องเที่ยวของบ้านภูในมุมมองแบบ “เทียบกับละคร” และคำนึงถึงปรากฏการณ์โลกาภิวัตน์ด้วย การศึกษาครั้งนี้ใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพในการเก็บรวบรวมข้อมูล โดยมีวิธีการสำคัญคือ การสังเกตการณ์อย่างมีส่วนร่วม การสัมภาษณ์ทั่วไป และการสัมภาษณ์แบบเจาะลึกโดยเฉพาะกับผู้ให้ข่าวสำคัญ ผลการศึกษาพบว่า อัตลักษณ์ในชีวิตประจำวันของผู้ไทบ้านภูเป็นอัตลักษณ์ที่ไม่หยุดนิ่ง แต่เลื่อนไหลไปตามบริบทและสถานการณ์โดยขึ้นอยู่กับการปฏิสัมพันธ์ทางสังคม และแม้ว่าชาวบ้านภูสามารถแสดงอัตลักษณ์ของตนโดยไม่ต้องอ้างอิงกับความเป็นกลุ่ม แต่อัตลักษณ์ของกลุ่มก็ยังมีอิทธิพลต่อสำนึกและการแสดงอัตลักษณ์ของปัจเจกบุคคล อัตลักษณ์ของผู้ไทบ้านภูในบริบทของการท่องเที่ยวสามารถเห็นได้ชัดเจนในรูปแบบของอัตลักษณ์ระดับกลุ่ม เนื่องมาจากการสร้างภาพ “ความเป็นผู้ไท” ในระดับหมู่บ้าน เช่น การแต่งกายชุดผู้ไท ฟ้อนผู้ไท ในบริบทการท่องเที่ยวอัตลักษณ์ของปัจเจกชนจึงไม่ชัดเจนเท่ากับอัตลักษณ์ของกลุ่มที่เป็นผู้ไท เพราะชาวบ้านให้ความสำคัญกับอัตลักษณ์ของกลุ่มที่ได้มีการกำหนดรูปแบบของความเป็นชาวผู้ไทในระดับหมู่บ้านไว้แล้วและนโยบายรัฐและการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐมีส่วนสำคัญในการกำหนดอัตลักษณ์ของผู้ไทบ้านภู