Abstract:
การวิจัยเรื่อง "การเรียนการสอนวาทวิทยาและการประกอบงานอาชีพ" เป็นโครงการวิจัยเชิงประยุกต์ (applied research) ที่มีวัตถุประสงค์หลัก 2 ประการ คือ (1) เพื่อประเมินหลักสูตรและการเรียนการสอนเพื่อพัฒนาให้สอดคล้องกับการประกอบอาชีพของผู้เรียนโดยมองในแง่ผู้ว่าจ้าง/ผู้บังคับบัญชา และผู้รับจ้าง/ผู้ใต้บังคับบัญชาที่ในภาคราชการและภาคเอกชน (2) เพื่อทราบทัศนคติและความต้องการของผู้ว่าจ้างทั้งที่บัณฑิตนิเทศศาสตร์ร่วมงานด้วย และยังไม่มีบัณฑิตนิเทศศาสตร์ร่วมงานด้วย ขอบเขตของการวิจัยครั้งนี้ครอบคลุมบัณฑิตจากสถาบันอุดมศึกษา ที่เปิดการศึกษาด้านนิเทศศาสตร์และมีการเรียนการสอนวาทวิทยาเป็นวิชาบังคับอย่างน้อย 1 วิชา ได้แก่ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์หมาวิทยาลัย คณะวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง โดยการสุ่มตัวอย่างประชากรอย่างมีระบบคิดเป็นร้อยละ 15 ของประชากรแต่ละสถาบันและผู้บังคับบัญชาจำนวน 800 คน เท่ากัน โดยบัณฑิตที่ตกเป็นตัวอย่างเป็นผู้บ่งชี้ (identity) เองส่วนผู้บังคับบัญชาของบัณฑิตที่ไม่ได้เรียนวาทวิทยา ผู้วิจัยได้สุ่มตัวอย่างจาก Siam Directory และ One Million Baht Business เครื่องมือที่ใช้คือ แบบสอบถาม ซึ่งสร้างขึ้นเป็น 2 ชุด ชุดแรกสำหรับสอบถามบัณฑิตที่ผ่านการเรียนวาทวิทยา อีกชุดสำหรับผู้บังคับบัญชาของบัณฑิตดังกล่าว และใช้ชุดเดียวกันนี้ (โดยยกเว้นบางข้อ) สำหรับผู้บังคับบัญชาที่ไม่มีบัณฑิตที่ผ่านการเรียนวาทวิทยา แบบสอบถามที่ได้กลับคืนมาเป็นบัณฑิต 219 ราย ผู้บังคับบัญชา 144 ราย ในจำนวนนี้มีบัณฑิตนิเทศศาสตร์ใต้บังคับบัญชา 77 ราย ไม่มี 54 ราย บัณฑิตส่วนใหญ่ได้เรียนวิชาในกลุ่มต่าง ๆ ที่ผู้วิจัยได้แสดงหมวดหมู่ไว้ให้ 5 กลุ่ม ค่อนข้างน้อย (กลุ่มที่ 1 กลุ่มวิชาเกี่ยวกับการสื่อสารระหว่างบุคคล กลุ่มที่ 2 กลุ่มวิชาเกี่ยวกับการสื่อสารในกลุ่มและองค์การ กลุ่มที่ 3 กลุ่มวิชาเกี่ยวกับการสื่อสารหน้าที่ชุมนุมชน กลุ่มที่ 4 กลุ่มวิชาพื้นฐานซึ่งวางแนวทฤษฎี และกลุ่มที่ 5 กลุ่มวิชาพิเศษ) แต่ก็คาดว่าวิชาเหล่านี้จะมีประโยชน์ต่อการประกอบอาชีพมาก