Abstract:
งานวิจัย "วาทวิทยาในประวัติศาสตร์ไทย : ยุคกรุงธนบุรีและกรุงรัตนโกสินทร์" มีวัตถุประสงค์เพื่อ (1) รวบรวมเนื้อหาสาระสำคัญของวาทวิทยาที่ปรากฏในหลักฐานประเภทต่าง ๆ อันได้แก่พระราชพงศาวดาร จดหมายเหตุ กฎหมาย หมายรับสั่ง บันทึกความจำ สิ่งตีพิมพ์ต่าง ๆ (2) รวบรวมพระราชดำรัสและแนวพระราชดำริของพระมหากษัตริย์ที่เกี่ยวเนื่องกับการเมืองการปกครอง เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม และคัดเลือกสุนทรพจน์เด่น ๆ ของนักพูดเชื้อพระวงศ์และสามัญชน 15 ท่าน เพื่อวิเคราะห์พิจารณาลักษณะวาทวิทยาในเชิงคุณภาพโดยจะเน้นการวิเคราะห์ปริบท (context analysis) และตัวบท (textual analysis) โดยใช้กรอบวิเคราะห์เชิงประวัติศาสตร์ (historical framework) ในส่วนพระราชวจนะของพระมหากษัตริย์ คำถามนำวิจัย 2 คำถามคือ (1) สถานการณ์นากรใช้พระราชวจนะในยุคธนบุรียุครัตนโกสินทร์ของพระมหากษัตริย์เป็นอย่างไรบ้าง (2) ลักษณะหรือบทบาทของการใช้พระราชวจนะของพระมหากษัตริย์ไทยในยุคดังกล่าวเป็นอย่างไรบ้าง ส่วนการวิเคราะห์วาทะของนักพูด 15 ท่าน มีคำถามนำวิจัย 2 ข้อคือ (1) สถานการณ์ในการใช้วาทะหรือสุนทรพจน์ของนักพูดเด่น ๆ ของไทยในยุครัตนโกสินทร์เป็นอย่างไรบ้าง (2) ลักษณะหรือกลยุทธ์เด่น ๆ ของนักพูดเหล่านี้มีอะไรบ้างในการสร้างความเข้าใจหรือดึงดูดความสนใจและการยอมรับจากผู้ฟัง การวิจัยแสดงให้เห็นว่า สถานการณ์ที่ประเทศไทยต้องประสบในสมัยกรุงธนบุรีและกรุงรัตนโกสินทร์ทำให้พระมหากษัตริย์แต่ละพระองค์ต้องใส่พระทัยกับความอยู่เย็นเป็นสุขหรือภัยที่จะมาคุกคามพสกนิกรของพระองค์ ในความเป็นพระมหากษัตริย์ ยิ่งต้องทรงเตรียมการสื่อสารอย่างรอบคอบเพื่อพาประเทศให้รอดปากเหยี่ยวปากกา นำความสันติสุขร่มเย็นมาสู่พสกนิกรของพระองค์ให้จงได้ ลักษณะการใช้พระราชวจนะเพื่อแก้ไขวิกฤตการณ์ (2) ทรงออกพระบรมราชโองการหรือการแสดงออกด้วยพระราชจริยวัตรอื่นเพื่อประโยชน์สุขของราษฎรในยามปกติ (3) ทรงใช้พระราชวจนะในการอบรมสั่งสอนหลักในการปกครองประเทศและปกครองตน (4) ทรงใช้พระราชวจนะในการเจรจาต่อรองเพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศชาติ (5) ทรงใช้พระราชวจนะเพื่อแสดงน้ำพระทัยที่เป็นธรรม (6) ทรงใช้พระราชวจนะเพื่อทะนุบำรุงขวัญและกำลังใจของประชาชน (7) ทรงใช้พระราชวจนะในสถานการณ์เพื่อ "บัวไม่ให้ช้ำ น้ำไม่ให้ขุ่น" (8) ทรงใช้พระราชวจนะเพื่อทะนำบำรุงศาสนาและการศึกษา (9) ทรงใช้พระราชวจนะในการสอนอบรมจริยธรรม (10) ทรงใช้พระราชวจนะในการสืบสานวัฒนธรรมคือวรรณคดีประจำชาติ (11) ทรงใช้พระราชวจนะในการปลุกใจให้คนมีจิตใจฮึกเหิมมีความรักชาติ (12) ทรงใช้พระราชวจนะสนับสนุนให้สามัญชนแสดงความคิดเห็น สำหรับนักพูดเด่นของไทยในยุครัตนโกสินทร์ 15 ท่าน ผู้วิจัยได้คัดเลือกนักพูดตั้งแต่เริ่มมีการพูดอย่างเป็นระบบ "สมัยใหม่" ตั้งแต่รัชกาลที่ 5 มาจนถึงรัชกาลที่ 9 ประกอบด้วยเพศชาย 13 ท่าน เพศหญิง 2 ท่าน และมีอาชีพหลากหลาย อาทิ ทนายความ ปราชญ์ทางหนังสือพิมพ์ ปราชญ์ทางการศึกษา แพทย์ ทหาร พระภิกษุ นายธนาคาร ผู้นำองค์กรพัฒนาเอกชน ผู้บริหารรัฐวิสาหกิจ นักการเมือง ฯลฯ การวิจัยนี้แสดงให้เห็นว่า มีสถานการณ์หลากหลายที่นักพูดต้องเผชิญ และภายใต้สถานการณ์หลากหลายเหล่านี้ต่างคนต่างก็มีกลยุทธิ๖ง ๆ กันในการสื่อสาร ประการแรก ในการพูด นักพูดแต่ละคนจะนำสถานการณ์เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย และพยายามพูดให้สอดคล้องกับสถานการณ์นั้น ๆ เช่น ชี้แจงข้อมูลเพื่อให้สถานการณ์กระจ่างชัด สอน เทศนา แสดงความเห็นที่เป็นเอกลักษณ์ สร้างภาพพจน์ โต้แย้ง ฯลฯ ประการที่สองผู้พูแต่ละคนมีการค้นคว้าเตรียมตัวมา ประดิษฐการ (invention) ของสุนทรพจน์หรือปาฐกถา ประมวลจากการค้นคว้าในตำรับตำราการอ่านอย่างกว้างขวาง จากประสบการณ์ของตนเองและนำมาผสมผสานกับวิจารณญาณของตนเอง ประการที่สาม กลยุทธ์ที่ผู้พูดแต่ละคนใช้แตกต่างกันตามลีลาของแต่ละคน อาทิ การใช้โครงสร้างวาทะ การพัฒนาเนื้อเรื่องด้วยตัวอย่างอุปมาอุปไมย ตัวเลข การเปรียบเทียบ การเล่าเรื่อง การบรรยายหรือการพรรณนา การใช้อารมณ์ขัน การโยงเหตุผลในรูปแบบนิรนับ-อุปนัย กลยุทธ์เหล่านี้เป็นอมตะมีในตำราการพูดแทบทุกเล่ม แต่ผู้พูดแต่ละคนได้ใช้ความสามารถเฉพาะตัวในการทำให้กลยุทธ์เหล่านี้เป็นที่ดึงดูดใจคนฟัง