Abstract:
ทุนทางสังคมเป็นเรื่องความสัมพันธ์ของคนในสังคม ทุนทางสังคมมีลักษณะทั้งที่เป็นนามธรรมและรูปธรรม ซึ่งเกิดขึ้นบนความไว้วางใจกัน บรรทัดฐาน ค่านิยม และวัฒนธรรมร่วมกัน ทุนทางสังคมมีทั้งการรวมกลุ่มกันในแบบ สถาบัน องค์กร หรือเครือข่าย และมีความสัมพันธ์ทั้งแบบเป็นทางการและไม่เป็นทางการ วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ได้ศึกษาลักษณะทุนทางสังคม พิจารณาความแตกต่างของระดับทุนทางสังคมในระดับจังหวัด และวิเคราะห์ผลกระทบของทุนทางสังคมต่อการพัฒนาเศรษฐกิจด้วยการพิจารณาตัวแปรแทนทุนทางสังคมบางตัว ผลการศึกษาพบว่าตัวแปรทุนทางสังคมมีส่วนช่วยแก้ไขปัญหาความยากจน โดยปัจจัยสัดส่วนครัวเรือนมีคนมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นเพื่อประโยชน์ของชุมชนหรือท้องถิ่นมีผลในทิศทางลบต่อจำนวนคนจนด้านรายได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ในขณะเดียวกันตัวแปรทุนทางสังคมก็มีส่วนช่วยให้เกิดความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ กล่าวคือปัจจัยสัดส่วนคนที่มีสิทธิ์ไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งมีผลในทิศทางบวกอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติต่อปัจจัยผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัดต่อประชากร และปัจจัยสัดส่วนครัวเรือนมีคนมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นเพื่อประโยชน์ของชุมชนหรือท้องถิ่นมีผลในทิศทางบวกต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัดต่อประชากรแต่อย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ ในทางตรงกันข้ามตัวแปรทุนทางสังคมบางตัวก็ไม่สามารถบรรลุเป้าหมายในแก้ไขปัญหาความยากจนและการกระจายรายได้ กล่าวคือปัจจัยการมีสหภาพแรงงานมีผลในทิศทางบวกอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติต่อจำนวนคนจนด้านรายได้ และปัจจัยสัดส่วนความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินมีผลในทิศทางบวกอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติต่อจำนวนคนจนด้านรายได้และมีผลในทิศทางลบอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัดต่อประชากรและรายได้ครัวเรือน แม้ว่าในการศึกษาครั้งนี้จะยังไม่พบผลกระทบของทุนทางสังคมต่อการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญอันเนื่องมาจากข้อจำกัดของข้อมูล อย่างไรก็ตามปัจจุบันพบว่าองค์กรชุมชนซึ่งเป็นทุนทางสังคมที่มีการก่อตัวขึ้นใหม่อย่างหลากหลาย จากการศึกษาพบว่า องค์กรที่มีแรงจูงใจทางการเงินมีแนวโน้มเกิดขึ้นในพื้นที่ที่มีการพัฒนาเศรษฐกิจในระดับต่ำ กล่าวคือในจังหวัดที่มีผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัดต่อประชากรและรายได้ครัวเรือนน้อย แต่มีจำนวนคนจนและมีอัตราการพึ่งพิงสูง รวมทั้งเป็นจังหวัดที่มีการใช้จ่ายภาครัฐต่อหัวหมวดที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจน้อยจะมีแนวโน้มมีองค์กรที่มีแรงจูงใจทางการเงินสูง ผลการศึกษาดังกล่าวแสดงนัยว่า การพัฒนาเศรษฐกิจที่ขาดความสมดุลอย่างที่ผ่านมาเป็นปัจจัยหนึ่งที่ก่อให้เกิดทุนทางสังคม