Abstract:
บทบาทขององค์กรพัฒนาเอกชนมีความสำคัญต่อการพิทักษ์สิ่งแวดล้อม ซึ่งรัฐก็ยอมรับด้วยการบัญญัติเป็นกฎหมายรองรับไว้ในมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 โดยกฎหมายกำหนดเงื่อนไขว่าองค์กรพัฒนาเอกชนที่มีกิจกรรมด้านการพิทักษ์สิ่งแวดล้อม จะต้องเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายไทย หรือกฎหมายต่างประเทศ และได้จดทะเบียนเป็นองค์กรพัฒนาเอกชนด้านการคุ้มครองและอนุรักษ์ทรัพยากรตามธรรมชาติ และสิ่งแวดลอมกับกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นมาตรการในการกำกับดูแลการดำเนินการขององค์กรพัฒนาเอกชนด้านสิ่งแวดล้อม และกฎหมายได้กำหนดมาตรการจูงใจ และส่งเสริมการใช้บทบาทในการพิทักษ์สิ่งแวดล้อมขององค์กรพัฒนาเอกชนไว้ด้วยการให้ความช่วยเหลือหรืออำนวยความสะดวกเมื่อประสบปัญหาหรืออุปสรรคในการดำเนินการ และให้เงินทุนสนับสนุนการดำเนินกิจการโดยใช้เงินจากกองทุนสิ่งแวดล้อมตามมาตรา 8 ปัญหาก็คือมีองค์กรพัฒนาเอกชนอยู่จำนวนมากที่ยังไม่มีศักยภาพความพร้อมตามเงื่อนไขของกฎหมายที่จะจดทะเบียนเป็นองค์กรพัฒนาเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมได้ จึงทำให้จำนวนองค์กรพัฒนาเอกชนที่จดทะเบียนมีน้อย สำหรับบทบาทขององค์กรพัฒนาเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมในการพิทักษ์สิ่งแวดล้อมนั้น มีการใช้บทบาททั้งโดยตรง อันประกอบด้วยบทบาทในการจัดการสิ่งแวดล้อม บทาทในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร บทบาทในการใช้สิทธิในสิ่งแวดล้อม และการใช้บทบาทโดยอ้อมโดยผ่านคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติที่มีผู้แทนองค์กรพัฒนาเอกชนเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิอยู่ด้วย 4 ท่าน จากจำนวนทั้งหมด 23 ท่าน ปัญหาก็คือองค์กรพัฒนาเอกชนไม่มีโอกาสที่จะเลือกหรือสรรหาผู้แทนของพวกตน เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาแต่งตั้งให้เป็นกรรมการในคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ และมีหลายองค์กรที่ยังไม่ทราบว่าใครเป็นผู้แทนของพวกตน จึงทำให้เป็นปัญหาอุปสรรคในการใช้บทบาทโดยอ้อม นอกจากนี้แล้ องค์กรพัฒนาเอกชนยังมีบทบาทในการใช้สิทธิและหน้าที่ตามกฎหมายกำหนดคือ สิทธิในการรับทราบข้อมูลข่าวสารจากทางราชการ สิทธิในการเรียกร้องค่าเสียหายหรือค่าสินไหมทดแทนจากรัฐ รัฐวิสหากิจ หรือเอกชนในโครงการที่ก่อให้เกิดความเสียหายขึ้นกับสิทธิที่จะร้องเรียนกล่าวโทษผู้กระทำผิดต่อสิ่งแวดล้อม ส่วนหน้าที่ตามกฎหมายก็คือหน้าที่ให้ความร่วมมือช่วยเหลือเจ้าพนักงานในการปฏิบัติหน้าที่เพื่อการพิทักษ์สิ่งแวดล้อม และหน้าที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายเพื่อการพิทักษ์สิ่งแวดล้อม การวิจัยนี้ได้เสนอแนะให้ภาครัฐปรับปรุงแก้ไขกฎหมายในเรื่องคุณสมบัติขององค์กรพัฒนาเอกชนทีจะจดทะเบียนเป็นองค์กรพัฒนาเอกชนด้านสิ่งแวดล้อม เพิ่มสัดส่วนจำนวนองค์กรพัฒนาเอกชนที่จะแต่งตั้งเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ และการออกกฎกระทรวงกำหนดรายละเอียดและวิธีการในการเลือกหรือสรรหาผู้แทนองค์กรพัฒนาเอกชนเพื่อเป็นตัวแทนในคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ สำหรับภาคองค์กรพัฒนาเอกชนนั้น ได้เสนอแนะให้มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงรูปลักษณ์ในการดำเนินกิจกรรม และการสร้างเครือข่ายองค์กรพัฒนาเอกชนด้านสิ่งแวดล้อม รวมถึงการชักชวนให้นักวิชาการมหาวิทยาลัยให้ความสนใจที่จะเข้าร่วมดำเนินการกับองค์กรพัฒนาเอกชนให้มากขึ้น เพื่อเป็นการเสริมสร้างดทางด้านวิชาการแก่องค์กรพัฒนาเอกชน