Abstract:
สัญญาขายฝากในประเทศไทยมีหลักกฎหมายมาบังคับใช้กันมาช้านานแล้ว ซึ่งตามกฎหมายเก่า การขายฝากมีลักษณะเป็นสัญญาประกันชนิดหนึ่ง เช่นเดียวกับการจำนำและสัญญาประกันอย่างอื่นโดยพัฒนาขึ้นมาจากสัญญาขายฝากทาสซึ่งเป็นที่นิยมกันมากในสมัยโบราณ แต่สัญญาขายฝากตามกฎหมายเก่าของไทยมีลักษณะที่แตกต่างกับสัญญาขายฝากตามกฎหมายที่ใช้อยู่ในปัจจุบันนี้ กล่าวคือผู้ขายฝากไม่ได้โอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ขายฝากให้แก่ผู้รับซื้อฝากคงส่งมอบการครอบครองทรัพย์สินให้แก่ผู้รับซื้อฝากเพื่อทำกิน หรือใช้ประโยชน์ต่างดอกเบี้ยเท่านั้น ผู้ขายฝากก็มีสิทธิเอาสินทรัพย์ที่ขายฝากนั้นกลับคืนมาได้โดยการชำระหนี้ที่เป็นประกันคืนให้แก่ผู้รับซื้อฝากภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ แต่ถ้าผู้ขายฝากไม่ทำการชำระหนี้ภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ดังกล่าวกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ขายฝากจึงจะตกเป็นของผู้รับซื้อฝากโดยเด็ดขาด ซึ่งตราบใดที่ทรัพย์สินนั้นยังไม่หลุดเป็นกรรมสิทธิ์แก่ผู้รับซื้อฝาก ผู้รับซื้อฝากย่อมจะไม่มีสิทธิจำหน่ายจ่ายโอนหรือทำลายทรัพย์สินนั้นได้ สำหรับสัญญาขายฝากตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ฉบับที่ใช้บังคับในปัจจุบันนั้นมีลักษณะเป็นสัญญาซื้อขายอย่างหนึ่ง ซึ่งกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ขายฝากได้โอนไปยังผู้รับซื้อฝากแล้ว ตั้งแต่ขณะเมื่อทำสัญญาขายฝากกัน เพียงแต่มีข้อตกลงกันเป็นพิเศษในสัญญาซื้อขายนั้นว่า ผู้ขายฝากอาจไถ่ทรัพย์สินที่ขายฝากนั้นคืนได้ภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ในสัญญานั้นหรือโดยกฎหมาย เหตุนี้สัญญาขายฝากตามกฎหมายปัจจุบันจึงไม่มีลักษณะเป็นสัญญาประกันดังเช่นตามกฎหมายเก่า แต่เป็นสัญญาโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินเช่นเดียวกับสัญญาซื้อขายธรรมดาโดยมีการชำระราคาเป็นการตอบแทนซึ่งถ้าหากผู้ขายฝากไถ่ทรัพย์สินที่ขายฝากคืนในระยะเวลาที่กำหนดไว้ในสัญญาหรือภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 492 บัญญัติว่ากรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินไม่เคยตกไปกาผู้ซื้อเลย แต่ในระหว่างที่กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ขายฝากตกได้แก่ผู้ซื้อฝากนั้นโดยหลักแห่งกรรมสิทธิ์ (มาตรา 1336) ผู้ซื้อฝากย่อมมีสิทธิใช้สอย จำหน่ายและได้ดอกผลแห่งทรัพย์สินนั้นเช่นเดียวกับเจ้าของทรัพย์สินโดยทั่วไป ทั้งนี้เว้นแต่จะได้ตกลงกันไว้ในสัญญาว่า ไม่ให้ผู้ซื้อจำหน่ายทรัพย์สินที่ขายฝากนั้น ก็ย่อมต้องเป็นไปตามข้อตกลงซึ่งหากผู้ซื้อฝ่าฝืนสัญญาก็ต้องรับผิดต่อผู้ขายในความเสียหายใด ๆ อันเกิดแต่การนั้น (มาตรา 493) แม้สัญญาขายฝากตามกฎหมายฉบับปัจจุบันจะไม่มีลักษณะเป็นสัญญาประกันก็ตาม แต่ก็ยังคงมีลักษณะกับสัญญาประกันเช่นจำนอง จำนำ เป็นอย่างมาก ทั้งนี้เพราะสัญญาขายฝากนั้นเป็นการเอาทรัพย์สินโอนกรรมสิทธิ์ส่งมอบให้แกเจ้าของเงินซึ่งโดยลักษณะของสัญญาย่อมมีความมั่นคงมากกว่าสัญญาประกันอย่างอื่น ที่มิได้มีการโอนกรรสิทธิ์ในทรัพย์สินกันอย่างมากมาย และเนื่องจากเป็นการโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินไปให้แก่ผู้ซื้อดังกล่าวนี้เอง ถ้าเจ้าของทรัพย์สินผู้ขายต้องการได้ทรัพย์สินนั้นกลับคืนมาเป็นของตนอีกครั้งก็ต้องใช้สิทธิไถ่หรือชำระหนี้เงินค่าซื้อที่รับไปในตอนแรกคืนให้แก่ผู้ซื้อฝาก ตราบใดที่ทรัพย์สินนั้นผู้ขายยังมิได้ไถ่คืน กรรมสิทธิ์ก็ยังคงเป็นของผู้ซื้อฝากอยู่ ดังนั้น ผู้ซื้อฝากจึงจะมีสิทธิจัดการแก่ทรัพย์สินนั้นประการใดก็ได้โดยหลักแห่งกรรมสิทธิ์ดังกล่าวมาแล้ว และถ้าหากผู้ขายไม่ไถ่ทรัพย์สินที่ขายฝากนั้นคืนภายในกำหนดผู้ซื้อฝากก็อาจเอาทรัพย์สินนั้นออกขายเพื่อชดใช้ราคาทรัพย์ที่เสียไปในตอนทำสัญญาขายฝากเสียก็ได้ กรณีจึงเป็นเรื่องที่เจ้าของเงินซึ่งเป็นผู้รับซื้อฝากไม่มีทางที่จะเสียเปรียบ และต้องสูญเสียเงินของตนไปโดยไม่หนทางเรียกกลับคืนดังสัญญาประกันอย่างอื่น ความยุ่งยากในทางปฏิบัติอันเกิดแต่การทำสัญญาขายฝากนั้น ส่วนหนึ่งเกิดจากความบกพร่องของบทบัญญัติในกฎหมายลักษณะขายฝากฉบับที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบันที่รวมเอาทั้งหลักกฎหมายเก่าของไทยและหลักกฎหมายของต่างประเทศเข้าไว้ด้วยกันโดยมิได้ขัดเกลาเนื้อหาและประสานรูปแบบให้สอดคล้องเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันเสียก่อน ผลบังคับของกฎหมายลักษณะนี้ในบัจจุบันจึงออกมาในทำนองเอื้ออำนวยประโยชน์ให้แก่เจ้าของเงิน ซึ่งเป็นผู้รับซื้อฝากมากกว่าผู้ขายฝากซึ่งเป็นเจ้าของทรัพย์สิน ในอีกส่วนหนึ่งนั้นความบกพร่องมิได้เกิดจาก เนื้อหาของกฎหมายลักษณะขายฝากฉบับปัจจุบันนี้แต่อย่างใด แต่เกิดขึ้นเนื่องมาจากการตีความบทบัญญัติของกฎหมายลักษณะนี้ของผู้มีหน้าที่วินิจฉัยและระงับข้อพิพาทอันเกิดแต่สัญญาขายฝากอีกด้วย ซึ่งเมื่อรวมความบกพร่องทั้งในด้านเนื้อหาของกฎหมายลักษณะนี้และการตีความกฎหมายของผู้ใช้กฎหมายเข้าด้วยกันแล้ว จึงมีผลให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์และเกิดการต่อต้านกฎหมายลักษณะขายฝากนี้มาโดยตลอดจนกระทั่งปัจจุบัน สำหรับปัญหาที่เกิดในทางปฏิบัติอันเนื่องมาแต่การทำสัญญาขายฝากนั้น ที่เป็นปัญหาสำคัญจนถึงกับมีคำวิพากษ์วิจารณ์กฎหมายลักษณะขายฝากว่าเป็นกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม ก็คือ ในเรื่องการกำหนดสินไถ่ในสัญญาขายฝาก ซึ่งในทางปฏิบัติคู่สัญญามักนิยมซื้อฝากกันในราคาหนึ่งและกำหนดสินไถ่ไว้ในอีกราคาหนึ่ง การกำหนดราคาทรัพย์สินในขณะทำสัญญาขายฝากนั้นส่วนใหญ่ตกลงซื้อขายกันในราคาเพียงครึ่งเดียวของราคาที่แท้จริงของทรัพย์สินนั้น ส่วนสินไถ่ก็มักจะตกลงกันไว้ในราคาที่สูงมากโดยคำนวณดอกเบี่ยในต้นเงินซึ่งเป็นราคาขายฝาก และสะสมเพิ่มมากขึ้นตามระยะเวลาที่กำหนดไว้เพื่อใช้สิทธิไถ่ทรัพย์สินที่ขายฝากนั้นคืน ซึ่งเมื่อรวมดอกเบี้ยต้นเงินที่เป็นราคาขายฝากเข้าด้วยกันยอดเงินที่กำหนดเป็นสินไถ่จึงสูงมากจนผู้ขายฝากส่วนใหญ่ไม่สามารถหาเงินมาไถ่ทรัพย์สินของตนคืนได้ ทรัพย์สินนั้นจึงหลุดเป็นของผู้ซื้อฝากไปโดยเด็ดขาด วิธีการดังกล่าวนี้ย่อมเป็นการแสดงให้เห็นโดยชัดเจนว่าเป็นการกดขี่ขูดรีดผู้ที่มีความเดือดร้อนทางด้านการเงินอย่างโหดร้ายทารุณ ในท้ายที่สุดเมื่อข้อพิพาทเหล่านี้ขึ้นสู่ศาล ศาลกลับเห็นไปว่าเป็นข้อตกลงที่คู่สัญญาสามารถทำได้โดยชอบด้วยกฎหมาย เพราะศาลตีความว่า "สินไถ่" ก็คือราคาซื้อทรัพย์สินที่ขายฝากลับคืนมานั่นเอง จึงไม่มีข้อห้ามตามกฎหมายและความตกลงดังกล่าวไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนแต่อย่างใด ถึงแม้ว่าบางเรื่องจะปรากฏพฤติการณ์โดยชัดเจนว่าเป็นการเรียกดอกเบี้ยกันเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้ก็ยังบังคับได้เช่นเดียวกัน (คำพิพากษาศาลฎีกา 707-708/2505, ที่ 410/2510, ที่ 2802/2522) เกี่ยวกับเรื่องสินไถ่ในสัญญาขายฝากนี้ ความจริงถ้าพิเคราะห์ลักษณะของสัญญาขายฝากตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 491 แล้ว จะเห็นว่าสัญญาขายฝากนั้นประกอบด้วยข้อตกลงซื้อขายทรัพย์สินกันตามปกติธรรมดาส่วนหนึ่งและข้อตกลงในการ "ไถ่" ทรัพย์สินอีกส่วนหนึ่ง ซึ่งข้อตกลงทั้งสองนี้ต้องพิจารณาแยกกันเป็นคนละตอน จะตีความรวมกันไปว่าเมื่อสัญญาขายฝากเป็นสัญญาซื้อขายชนิดหนึ่ง ข้อตกลงไถ่คืนย่อมเป็นการซื้อคืนด้วยหาได้ไม่ เพราะเป็นการตีความที่ไม่ตรงกับความหมายอันแท้จริงของข้อตกลง "ไถ่" ในมาตร 491 และคำว่า "สินไถ่" ในมาตรา 499 และมาตรา 500 นั้นจะต้องแปลตามความหมายธรรมดาที่แปลว่า "การถอนทรัพย์ที่ขายฝากคืน" และ "จำนวนเงินที่นำไปชำระเพื่อถอนคืนซึ่งทรัพย์สินที่ขายฝาก" ตามลำดับ ซึ่งถ้าตีความคำว่า "ไถ่" และ "สินไถ่" ตามความหมายธรรมดา เช่นนี้แล้ว เมื่อคู่กรณีตกลงกำหนดสินไถ่ไว้ในสัญญาขายฝากสูงมากเกินไปจนถือได้ว่าเป็นการคิดดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้ ต้องถือว่าเป็นการขัดต่อกฎหมายและความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ข้อตกลงดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะเสียเปล่าไปด้วย เกี่ยวกับกำหนดระยะเวลาในการใช้สิทธิไถ่นั้น มาตรา 494 ห้ามมิให้ใช้สิทธิไถ่อสังหาริมทรัพย์ซึ่งขายฝากเมื่อพ้นกำหนดสิบปีนับแต่เวลาซื้อขาย และสังหาริมทรัพย์ซึ่งขายฝากเมื่อพ้นกำหนดสามปีนับแต่เวลาซื้อขาย ซึ่งถ้าในสัญญามีกำหนดเวลาไถ่เกินไปกว่านี้ก็ให้ลดลงมาเป็นสิบปีหรือสามปีแล้วแต่กรณี (มาตร 495) แต่ถ้าในสัญญามีกำหนดเวลาไถ่ต่ำกว่าสิบปีหรือสามปีแล้ว คู่กรณีไม่อาจจะขยายเวลานั้นในภายหลังได้ (มาตรา 496) ซึ่งตามมาตรา 496 นี้ ศาลฎีกาตีความว่าข้อตกลงขยายระยะเวลาไถ่ตกเป็นโมฆะ (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 988/2506, ที่ 2320/2518, ที่ 2789/2522) เพราะเป็นการฝ่าฝืนข้อห้ามของกฎหมายโดยชัดแจ้ง (มาตรา 113) อย่างไรก็ดี การตีความดังกล่าวของศาลมีผลทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมแก่คู่กรณีในสัญญาขายฝาก โดยเฉพาะทางฝ่ายเจ้าของทรัพย์สินผู้ขายฝากเป็นอย่างมาก เพราะกลายเป็นว่ากฎหมายได้ก้าวล่วงเข้าไปจำกัดสิทธิและเสรีภาพของเอกชนมากเกินไป เป็นการขัดต่อหลักเสรีภาพและความศักดิ์สิทธิ์แห่งการแสดงเจตนาอันเป็นเจตนารมณ์ที่สำคัญของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์โดยตรง ซึ่งกฎหมายในยุคนี้ไม่น่าจะมีบัญญัติไว้เช่นนั้น เมื่อพิจารณาบทบัญญัติของกฎหมายขายฝากตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์โดยตลอดแล้ว จะเป็นได้ว่ายังมีข้อบกพร่องที่จะต้องดำเนินการแก้ไขและเยียวยาอยู่อีกมาก โดยเฉพาะในส่วนที่อาจมีผลก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมแก่คู่กรณีที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นฝ่ายผู้ขายหรือผู้ซื้อและรวมทั้งบุคคลภายนอกที่อาจเข้ามามีส่วนได้เสียในสัญญาขายฝากด้วย ซึ่งวิธีดำเนินการแก้ไขและเยียวยาดังกล่าวนี้อาจจะกระทำได้สองวิธี คือวิธีแรก ตรากฎหมายใหม่ออกมาใช้บังคับเพื่อปรับปรุงแก้ไขหรือยกเลิกกฎหมายนั้น เสียทีเดียว และวิธีที่สองก็คือ พยายามบรรเทาผลร้ายอันเกิดจากความไม่เป็นธรรมในกฎหมายนั้นให้เหลือน้อยที่สุดโดยวิธีการตีความกฎหมาย การอุดช่องว่างของกฎหมายและการใช้กฎหมายโดยคำนึงถึงสภาวะและความเปลี่ยนแปลงของสังคมหรือที่เรียกกันว่า หลัก Evolutive ด้วย