Abstract:
กฎหมายลิขสิทธิ์ มีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองผลประโยชน์อันพึงมีพึงได้ของบุคคลที่ได้ใช้ความรู้ความสามารถ หรือความชำนาญของตนสร้างสรรค์ผลงานขึ้น และเพื่อส่งเสริมการสร้างสรรค์งานใหม่ขึ้น อันจะเป็นประโยชน์ต่อมวลมนุษยชนโดยทั่วไป หากบุคคลใดสร้างสรรค์งานขึ้นภายใต้เงื่อนไขของกฎหมาย ก็ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายในอันที่มีสิทธิแต่ผู้เดียวที่จะกระทำการใด้ ๆ เช่น ทำซ้ำ ดัดแปลง โฆษณา ให้ประโยชน์อันเกิดจากลิขสิทธิ์ เป็นต้น เนื่องจากลิขสิทธิ์ เป็นทรัพย์สินทางปัญญาประเภทหนึ่งซึ่งนานาประเทศมุ่งให้ความคุ้มครองแก่ผู้สร้างสรรค์ ด้วยการบัญญัติเป็นกฎหมายภายใน โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะคุ้มครองสิทธิอันชอบธรรมแก่เจ้าของลิขสิทธิ์เท่าที่ไม่เป็นการกระทบกระเทือนต่สิทธิของสังคมที่สาธารณชนจะใช้ประโยชน์จากงานอันมีลิขสิทธิ์นั้น กฎหมายภายในฉบับปัจจุบันของไทย คือ พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521 มีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2521 การได้มาซึ่งลิขสิทธิ์ อันจะมีผลให้ได้รับการคุ้มครองลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521 แบ่งออกได้เป็น 5 ประเภทคือ 1. โดยการที่ผู้สร้างสรรค์ได้สร้างสรรค์งานขึ้น อันเป็นผลงานที่มีรูปร่างปรากฏขึ้น โดยการคิดค้นใหม่ด้วยตนเองทั้งหมด 2.โดยการเอางานที่มีลิขสิทธิ์อยู่แล้วมาดัดแปลง โดยได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ 3. โดยการเอางานอันมีลิขสิทธิ์อยู่แล้ว มารวบรวม หรือประกอบเข้ากันโดยได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ 4. โดยผลแห่งนิติกรรม เช่น ทำเป็นสัญญาโอนขายลิขสิทธิ์กัน 5. โดยผลของกฎหมาย เช่น การรับมรดก เจ้าของลิขสิทธิ์ย่อมได้รับการคุ้มครองจากกฎหมาย ในอันที่มีสิทธิแต่เพียงผู้เดียวที่จะ ทำซ้ำ นำออกโฆษณา ให้ประโยชน์อันเกิดจากลิขสิทธิ์แก่ผู้อื่น และอนุญาตให้ผู้อื่นใช้สิทธิทำซ้ำ หรือนำออกโฆษณา อายุแห่งการคุ้มครองลิขสิทธิ์ มีอยู่ตลอดอายุของผู้สร้างสรรค์ และมีอยู่ต่อไปอีกเป็นเวลาห้าสิบปีนับแต่ผู้สร้างสรรค์ถึงแก่ความตาย อนึ่ง การนำงานที่มีลิขสิทธิ์ออกโฆษณาภายหลังจากครบห้าสิบปีนับแต่ผู้สร้างสรรค์ถึงแก่ความตายแล้ว ย่อมไม่มีลิขสิทธิ์ขึ้นใหม่แต่ประการใด การละเมิดลิขสิทธิ์ แบ่งออกได้เป็น 2 กรณี คือ 1. การละเมิดลิขสิทธิ์โดยตรง ได้แก่ การทำซ้ำ หรือดัดแปลง หรือนำงานอันมีลิขสิทธิ์ออกโฆษณาโดยมิได้รับอนุญาต 2. การละเมิดลิขสิทธิ์โดยทางอ้อม ได้แก่ การรู้อยู่แล้วว่างานใดได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่น แต่ยังนำไปขาย ให้เช่า ให้เช่าซื้อ หรือนำออกโฆษณา หรือแจกจ่าย หรือนำหรือสั่งเข้ามาในราชอาณาจักร ข้อยกเว้นการละเมิดลิขสิทธิ์ คือ การกระทำแก่งานอันมีลิขสิทธิ์โดยมีวัตถุประสงค์อย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้ ไม่ถือเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ คือ 1. วิจัย หรือศึกษา 2. ใช้เพื่อประโยชน์ของตนเองและบุคคลในครอบครัว หรือญาติมิตร 3. ติชม วิจารณ์ หรือแนะนำผลงาน โดยมีการรับรู้ถึงความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานนั้น 4. เสนอรายงานข่าวทางสื่อสารมวลชน โดยมีการรับรู้ถึงความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานนั้น 5. ทำซ้ำ ดัดแปลง นำออกแสดง หรือทำให้ปรากฏเพื่อประโยชน์ในการพิจารณาของศาล หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งมีอำนาจตามกฎหมาย 6. ทำซ้ำ ดัดแปลง นำออกแสดง หรือทำให้ปรากฏโดยผู้สอน เพื่อประโยชน์ในการสอนของตน 7. คัดลอก ทำสำเนา ดัดแปลงส่วนของงาน หรือตัดทอน หรือทำการสรุปโดยผู้สอน หรือสถาบันศึกษาตามความเหมาะสมและตามจำนวนที่จำเป็นเพื่อแจกจ่ายหรือจำหน่ายแก่ผู้เรียนในชั้นเรียนหรือในสถาบันศึกษา 8. นำงานนั้นมาใช้เป็นส่วนหนึ่งในการถามและตอบในการสอบ 9. คัด ลอก หรืออ้างอิงงานบางตอนสมควร โดยรับรู้ถึงความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานนั้น 10. บรรณารักษ์ห้องสมุด ทำซ้ำโดยมิได้มีวัตถุประสงค์เพื่อหากำไร แต่เพื่อใช้ในห้องสมุดหรือให้แก่ห้องสมุดอื่น หรือให้แก่บุคคลอื่น เพื่อประโยชน์ในการวิจัยหรือการศึกษาตามจำนวนการทำซ้ำที่เหมาะสม 11. ผู้นำโสตทัศนวัสดุ หรือภาพยนตร์ออกโฆษณาโดยมิได้มีวัตถุประสงค์เพื่อหากำไร คือ การนำออกให้ฟังหรือชม เพื่อความบันเทิงสำหรับประชาชนผู้ใช้บริการในสถานจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่ม สถานที่พักผ่อนหย่อนใจ ฯลฯ หรือนำออกให้ฟังหรือชมโดยสมาคม มูลนิธิ หรือองค์การอื่นที่มีวัตถุประสงค์เพื่อการกุศล การศึกษา การศาสนาหรือการสังคมสงเคราะห์ 12. ผู้กระทำการวาดเขียน การเขียนระบายสี การก่อสร้าง การแกะลายเส้น การปั้น การแกะสลัก การพิมพ์ภาพ การถ่ายภาพ การถ่ายภาพยนตร์ การแพร่ภาพหรือกระทำการใด ๆ ทำนองเดียวกันแก่ศิลปกรรมอันตั้งเปิดเผยอยู่ประจำในที่ที่สาธารณะ นอกจากงานสถาปัตยกรรม 13. ผู้กระทำการวาดเขียน การเขียนระบายสี การแกะลายเส้น การปั้น การแกะสลัก การพิมพ์ภาพ การถ่ายภาพ การถ่ายภาพยนตร์ หรือการแพร่ภาพแก่งานสถาปัตยกรรม 14. ผู้กระทำการบูรณะอาคารใดซึ่งเป็นงานสถาปัตยกรรมอันมีลิขสิทธิ์ 15. พนักงานเจ้าหน้าที่ หรือผู้กระทำการตามคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่กระทำซ้ำให้แก่บุคคลใด ๆ เพื่อประโยชน์ของทางราชการแก่งานอันมีลิขสิทธิ์และอยู่ในความครอบครองของทางราชการ การละเมิดลิขสิทธิ์เป็นความผิดทั้งคดีแพ่งและคดีอาญา กล่าวคือ นอกจากมีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหาในทางแพ่งแล้ว เจ้าของลิขสิทธิ์ยังมีสิทธิที่จะดำเนินคดีอาญาด้วยตนเอง หรือจะร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนเพื่อให้พนักงานอัยการเป็นผู้ฟ้องคดีอาญาได้ อายุความการฟ้องร้องคดีละเมิดลิขสิทธิ์คือ 3 ปี นับแต่ะเจ้าของลิขสิทธิ์รู้ถึงการละเมิด แต่ต้องไม่เกิน 10 ปี นับแต่วันที่มีการละเมิดลิขสิทธิ์ ลิขสิทธิ์ระหว่างประเทศ เป็นการขยายขอบเขตของการคุ้มครองลิขสิทธิ์ออกไปยังประเทศอื่นตามพันธกรณ๊ที่ตนผูกพันอยู่ ซึ่งในปัจจุบัน มักจะเป็นไปในรูปของอนุสัญญาระหว่างประเทศ คือ อนุสัญญาเบอร์นเพื่อการคุ้มครองวรรณกรรมและศิลปกรรม และอนุสัญญาลิขสิทธิ์สากล โดยอนุสัญญาทั้งสองฉบับได้บัญญัติให้ประเทศภาคีแห่งอนุสัญญา ได้รับความคุ้มครองลิขสิทธิ์ในประเทศภาคีแห่งอนุสัญญาอื่นในลักษณะตอบแทนกัน ประเทศไทยได้เป็นภาคีแห่งอนุสัญญาเบอร์นอยู่ 2 ฉบับ คือ ฉบับ Berlin Act , ค.ศ. 1908 ซึ่งสำเร็จโดย Berne Additional Protocol ค.ศ. 1914 โดยได้ทำข้อสงวนขอใช้บางมาตราของฉบับ Berne Convention ค.ศ. 1886 และ/หรือ Paris Act , ค.ศ. 1896 แทน 6 ข้อ อนึ่ง ลิขสิทธิ์ระหว่างประเทศที่จะได้รับความคุ้มครอง ต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกากำหนดเงื่อนไขเพื่อคุ้มครองลิขสิทธิ์ระหว่างประเทศ พ.ศ. 2526 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2526 ด้วย เช่น เรื่องลิขสิทธิ์ในการแปลนั้น ถ้าเจ้าของลิขสิทธิ์มิได้จัดให้มี หรืออนุญาตให้ผู้ใดจัดทำคำแปลเป็นภาษาไทย และโฆษณาคำแปลนั้นในราชอาณาจักรภายในสิบปี นับแต่วันสิ้นปีปฏิทินของปีที่ได้มีการโฆษณางานดังกล่าวเป็นครั้งแรก ให้ถือว่าสิทธิที่จะห้ามมิให้ทำซ้ำหรือดัดแปลง หรือโฆษณาซึ่งคำแปลในราชอาณาจักร เป็นอันสิ้นสุดลง เป็นต้น นอกจากนี้ ประเทศไทย ยังมีพันธกรณีเกี่ยวกัลบิขสิทธิ์ระหว่างประเทศอยู่ตามสนธิสัญญาทางไมตรี และความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างราชอาณาจักรไทยกับสหรัฐอเมริกา เนื่องจากประเทศไทยใช้ทฤษฎีที่ถือว่า สนธิสัญญาจะไม่มีผลบังคับเป็นกฎหมายภายในทันที ดังนั้น จึงไม่อาจนำสนธิสัญญาดังกล่าวไปใช้บังคับเป็นกฎหมายภายในได้