Abstract:
ศึกษาเปรียบเทียบวรรณกรรมกอทิกของจินตวีร์ วิวัธน์ กับ พงศกร จินดาวัฒนะ โดยศึกษาในสองประเด็นหลักคือรูปแบบและเนื้อหา ผลของการศึกษาเปรียบเทียบแสดงให้เห็นว่า จินตวีร์นำรูปแบบการเขียนแนวกอทิกของวัฒนธรรมตะวันตกมาปรับใช้ให้เหมาะเข้ากับบริบทสังคมไทย ขนบวรรณกรรมกอทิกแต่ละส่วนซึ่งก็คือ ตัวละครมนุษย์ ตัวละครเหนือธรรมชาติ ฉากบ้าน และเครื่องรางของขลัง ได้ถูกปรับแต่งให้สอดคล้องกับบริบททางสังคมไทย ขณะที่งานเขียนของพงศกรมีลักษณะการประยุกต์ใช้ขนบวรรณกรรมกอทิกในลักษณะที่ยืดหยุ่นมากกว่า งานเขียนของพงศกรประกอบด้วยผีไทยและผีตะวันตก และตัวละครเหนือธรรมชาติของพงศกรก็มิได้ถูกจำกัดให้ปรากฏกายอย่างผูกพันกับฉากบ้านเหมือนดังของจินตวีร์ นอกจากนั้น ตัวละครมนุษย์ของพงศกรยังมีหลากหลายเชื้อชาติกว่าจินตวีร์อีกด้วย สำหรับด้านเนื้อหา งานเขียนของจินตวีร์นำเสนอประเด็นความขัดแย้งทางวัฒนธรรมระหว่างความเป็นสังคมสมัยใหม่กับความเป็นสังคมดั้งเดิม ระบบสังคมแบบหญิงทรงอำนาจ ระบบศักดินา และลัทธิความเชื่อบูชาสัตว์ ส่วนงานเขียนของพงศกรมุ่งนำเสนอประเด็นความหลากหลายทางวัฒนธรรม และความแตกต่างหลากหลายทางเพศ ซึ่งกำลังเป็นประเด็นหัวข้อสำคัญในสังคมไทยร่วมสมัย