Abstract:
ศึกษาผลกระทบของนโยบายการเปิดเสรีทางการเงินต่อผลิตภาพการผลิตโดยรวมในประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2525-2550 ซึ่งครอบคลุมช่วงเวลาที่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้เริ่มนโยบายการเปิดเสรีทางการเงินทั้ง 4 ด้าน ได้แก่ การเปิดเสรีด้านอัตราดอกเบี้ย การเปิดเสรีด้านเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศ การเปิดเสรีด้านการผ่อนคลายการควบคุมธนาคารและสถาบันการเงิน และการเปิดเสรีภาคบริการทางการเงินด้วยวิธี Cointegration และ Error correction model ผลการศึกษาในระยะยาวพบว่า การเปิดเสรีทางการเงินทั้ง 4 ด้าน ไม่มีความสัมพันธ์กับการเจริญเติบโตของผลิตภาพการผลิตโดยรวม มีเพียงทุนมนุษย์และสัดส่วนทุนต่อแรงงานเท่านั้น ที่ส่งผลทางบวกและทางลบต่อการเจริญเติบโตของผลิตภาพการผลิตโดยรวมตามลำดับ ทั้งนี้เนื่องจากการเปิดเสรีทางการเงินในประเทศไทยนั้น นำมาซึ่งความผันผวนของระบบเศรษฐกิจและนำไปสู่วิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจปี 2540 ประกอบกับประเทศไทยเพิ่งเริ่มดำเนินนโยบายเปิดเสรีทางการเงินในระยะเวลาสั้นๆ ก่อนที่จะเกิดวิกฤตการณ์ ทำให้ภาครัฐต้องดำเนินการควบคุมด้านการเงินอีกครั้ง จึงไม่พบความสัมพันธ์ระยะยาวระหว่างนโยบายการเปิดเสรีทางการเงิน กับผลิตภาพการผลิตโดยรวมในช่วงที่ศึกษา ระยะสั้นพบว่า ปริมาณเงินลงทุนทางตรงและปริมารณเงินลงทุนในหลักทรัพย์ ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศและทุนมนุษย์มีความสัมพันธ์ทางบวก ขณะที่ระดับการแปรรูปภาคธนาคารเป็นของเอกชน มีความสัมพันธ์ทางลบต่อการเจริญเติบโตของผลิตภาพการผลิตโดยรวมอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งนี้อาจเนื่องจากการเข้าแทรกแซงระบบการเงินของภาครัฐในช่วงวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจ ช่วยบรรเทาความอ่อนแอของระบบการเงินและฟื้นฟูสถาบันการเงิน ซึ่งส่งผลดีต่อผลิตภาพการผลิตโดยรวมในประเทศไทย