Abstract:
การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งของฟัน โครงสร้างใบหน้า และรูปหน้าด้านข้าง ภายหลังการจัดฟันร่วมกับการถอนฟัน และการจัดฟันโดยไม่ถอนฟันร่วมกับการใส่เซอร์วิเคิลเฮดเกียร์ ในผู้ป่วยไทยที่มีการสบฟันผิดปกติชนิดที่2 แบบที่1 โดยประเมินจากภาพรังสีวัดศีรษะด้านข้างก่อนและภายหลังการรักษาของผู้ป่วยไทยที่มีการสบฟันผิดปกติชนิดที่2 แบบที่ 1 จำนวน 95 คน ซึ่งได้รับการจัดฟันด้วยวิธีการไม่ถอนฟัน (51คน อายุเฉลี่ย 10.5±1.3 ปี) และวิธีการถอนฟัน (44 คน อายุเฉลี่ย 11.8±1.3 ปี) วิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงตำแหน่งของฟันและโครงสร้างใบหน้าจากการซ้อนทับภาพรังสีก่อนและหลังการรักษา และวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงของรูปหน้าด้านข้างจาก มุมจมูก-ริมฝีปาก และ ระยะจากริมฝีปากล่างถึงระนาบสุนทรียะ ผลการศึกษา พบการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างใบหน้าในกลุ่มตัวอย่างที่ไม่ถอนฟันมากกว่ากลุ่มตัวอย่างที่ถอนฟัน ในขณะที่การเปลี่ยนตำแหน่งของฟันในแนวระนาบในกลุ่มตัวอย่างที่ถอนฟันมีมากกว่ากลุ่มตัวอย่างที่ไม่ถอนฟัน และพบว่า เซอร์วิเคิลเฮดเกียร์มีผลปรับเปลี่ยนให้ขากรรไกรบนมีการเจริญในแนวดิ่งมากขึ้น และสามารถกระตุ้นการเจริญเติบโตในแนวระนาบและแนวดิ่งของขากรรไกรล่าง การจัดฟันด้วยวิธีถอนฟันสามารถลดความยื่นของริมฝีปากล่างได้มากกว่าการจัดฟันแบบไม่ถอนฟัน สรุปว่า การรักษาการสบฟันผิดปกติชนิดที่ 2 แบบที่ 1 โดยไม่ถอนฟันร่วมกับการใช้เซอร์วิเคิลเฮดเกียร์ เป็นการปรับเปลี่ยนการเจริญเติบโตของขากรรไกรบนและขากรรไกรล่าง ส่วนการจัดฟันด้วยการถอนฟันในระยะฟันถาวรมีผลเปลี่ยนแปลงตำแหน่งฟันมากกว่าโครงสร้างใบหน้า การรักษาทั้งสองวิธีมีผลปรับเปลี่ยนให้รูปหน้าด้านข้างภายหลังการรักษาสวยงามและอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน