Abstract:
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์ภาพยนตร์ซึ่งเป็นผลงานการกำกับโดยสัตยาจิต เรย์ ทางด้านโครงสร้างการเล่าเรื่อง รูปแบบของโครงเรื่อง และแบบจำลองคู่ตรงข้ามตามแนวโครงสร้างนิยม การวิเคราะห์เนื้อหาตามผังแสวงหาและสี่เหลี่ยมสัญญศาสตร์ รวมทั้งการศึกษาภาษาภาพยนตร์ด้านมุมกล้อง การจัดองค์ประกอบ การลำดับภาพ การใช้เสียงประกอบ และศึกษาระบบการเล่าเรื่องที่สัมพันธ์กับสื่อ ประเภทของเรื่องวัฒนธรรมและลักษณะเฉพาะตนของสัตยาจิต เรย์ ในฐานะผู้กำกับการแสดง ผลการวิจัยพบว่า โครงเรื่องมีลักษณะเป็นดราม่า (Drama) น้อย จนบางครั้งไม่สามารถเล่าเป็นเรื่องย่อได้ ใช้บทสนทนาและบทพูดบรรยายน้อยมาก ส่วนใหญ่ใช้การสื่อความหมายด้วยองค์ประกอบภาพ (Mise en scene) การลำดับภาพ เสียงประกอบและดนตรีเป็นสำคัญ มีความโดดเด่นมากในเรื่ององค์ประกอบภาพ ภาพที่นำเสนอจะเป็นการถ่ายทอดสื่อถึงอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดที่ตัวละครเผชิญอยู่ เรื่องราวที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับแคว้นแบงกอล และใช้ภาษาแบงกลี (เว้นเรื่อง Shantranj Ke Khilari) เท่านั้นที่เนื่อเรื่องเกิดในอุตระประเทศ และใช้ภาษาอูดู (Urdu) และนิยมดัดแปลงเนื้อเรื่องจากนวนิยายและเรื่องสั้น เนื้อหาอาจแบ่งได้ 4 กลุ่มใหญ่ คือ 1. การตั้งคำถามกับสังคมและวัฒนธรรมที่กำลังเปลี่ยนไป 2. การตั้งคำถามเกี่ยวกับเพศสภาพ (gender) บทบาทและความสัมพันธ์ของหญิงและชายในสังคมฮินดูที่กำลังจะเปลี่ยนแปลง 3. การตั้งคำถามเกี่ยวกับชีวิตในเมืองใหญ่เช่นกัลกัตตาของคนหลายกลุ่ม หลากวรรณะ โดยที่เนื้อหาแต่ละกลุ่มนั้นจะออกมาเป็นชุดในแต่ละช่วง ดังนี้ ช่วงทศวรรษ 1950 จะเน้นที่ความเปลี่ยนแปลงของสังคมและวัฒนธรรมดั้งเดิม ช่วงทศวรรษ 1960 จะเน้นที่เรื่องเพศสภาพ ช่วงทศวรรษ 1970 จะเน้นที่เรื่องปัญหาและคุณค่าและจริยธรรมของมนุษย์ ช่วงทศวรรษ 1980 จะเน้นเรื่องอำนาจและการขบถต่ออำนาจ ภาพยนตร์ของสัตยาจิต เรย์ ที่เป็นขาวดำจะเด้นในการสื่อความมหาย และมีสุนทรียะทางด้านภาพยนตร์ทีเด่นกว่าภาพยนตร์สีในส่วนนี้