Abstract:
ศึกษา 1) ความสัมพันธ์ระหว่างแพทย์กับผู้ป่วยภายใต้ระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า 2) ผลของความสัมพันธ์ระหว่างแพทย์กับผู้ป่วย ต่อมุมมองเรื่องการดูแลตนเองของผู้ป่วย โดยเก็บรวบรวมข้อมูลด้วยเทคนิคการสัมภาษณ์แบบเจาะลึกร่วมกับการสังเกตแบบมีส่วนร่วม และสรุปความจากข้อมูลที่ได้ในลักษณะของการอุปนัย ผู้ป่วยเบาหวานที่ได้รับการรักษาภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และแพทย์ผู้รักษาแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ ผู้ป่วยในจังหวัดกรุงเทพมหานคร 3 รายกับแพทย์ผู้รักษา 1 ราย และผู้ป่วยในต่างจังหวัด 3 รายกับแพทย์ผู้รักษา 1 ราย ผลการศึกษาพบว่า ความสัมพันธ์ระหว่างแพทย์กับผู้ป่วยมีทั้งสิ้น 4 รูปแบบ กล่าวคือความสัมพันธ์แบบบิดามารดากับบุตร ความสัมพันธ์แบบครูกับลูกศิษย์ ความสัมพันธ์แบบเจ้านายกับลูกน้อง ความสัมพันธ์แบบผู้ให้บริการกับผู้ใช้บริการ ซึ่งรูปแบบความสัมพันธ์ที่พบข้างต้นมีความสอดคล้องกับ รูปแบบความสัมพันธ์ระหว่างแพทย์กับผู้ป่วยตามแนวคิดของ Talcott Parsons โดยเฉพาะในสามรูปแบบแรก
ในขณะที่สามารถอธิบายความสัมพันธ์ระหว่างแพทย์กับผู้ป่วยในปัจจุบันได้เพิ่มเติมอีกหนึ่งรูปแบบ แพทย์ยังคงเป็นผู้มีอำนาจในการสั่งการ หากความสัมพันธ์ระหว่างแพทย์กับผู้ป่วยดำเนินไปในลักษณะที่เป็นบิดามารดากับบุตร ครูกับลูกศิษย์ และเจ้านายกับลูกน้อง ในขณะที่ความสัมพันธ์ระหว่างแพทย์กับผู้ป่วยที่เป็นไปในลักษณะของผู้ให้บริการกับผู้ใช้บริการ ผู้ป่วยจะมีอำนาจในการใช้สิทธิของตนเองในฐานะผู้ใช้บริการ แต่อย่างไรก็ตามการศึกษาในครั้งนี้เป็นการศึกษาเฉพาะกลุ่มตัวอย่างเท่านั้น ความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นระหว่างแพทย์กับผู้ป่วยยังคงมีความพลวัตเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ นอกจากนี้ยังพบว่า ความสัมพันธ์ระหว่างแพทย์กับผู้ป่วยขึ้นอยู่กับการรับรู้ข้อมูลเกี่ยวกับสิทธิของผู้ป่วย ซึ่งไม่ส่งผลต่อพฤติกรรมการดูแลตนเองของผู้ป่วย