Abstract:
งานวิจัยครั้งนี้มุ่งศึกษาถึงวิถีชีวิตทางสังคมและวัฒนธรรมของชาวเยอ และอัตลักษณ์ความเป็นเยอผ่านภาษา ประเพณีที่สำคัญในครอบครัวและชุมชน ตลอดจนศึกษาถึงอัตลักษณ์ความเป็นเยอผ่านการปฏิสัมพันธ์กับกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆในอำเภอราษีไศล โดยนำแนวคิดทฤษฎีเกี่ยวกับกลุ่มชาติพันธุ์ อัตลักษณ์ชาติพันธุ์ การปรับตัว การผสมผสานทางวัฒนธรรม บูรณาการทางวัฒนธรรม และการแสดงอัตลักษณ์ชาติพันธุ์ในกระบวนการปฏิสัมพันธ์กับกลุ่มอื่น เป็นแนวทางในการทำความเข้าใจ สำหรับระเบียบวิธีวิจัยใช้วิธีการค้นคว้าจากเอกสารประกอบการวิจัยเชิงคุณภาพ ด้วยการสังเกตแบบมีส่วนร่วมในงานพิธีกรรมต่างๆของชาวบ้าน งานพระยากตะศิลารำลึก และการสัมภาษณ์เจาะลึกบุคคลที่ชาวบ้านให้ความนับถือ เป็นต้น
ผลการศึกษาพบว่า รูปแบบวิถีชีวิตทั่วไปของชาวเยอนั้น ยังประกอบอาชีพการเกษตรเป็นหลักและมีการปลูกผักเป็นอาชีพเสริมตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ส่วนประเพณีของชุมชนก็มีความใกล้เคียงกับฮีตสิบสองของชาวลาวอีสาน แต่ก็มีงานประเพณีระลึกบรรพบุรุษ “พระยากตะศิลารำลึก” ที่แสดงให้เห็นถึงความเป็นเยอออกมาอย่างชัดเจน โดยจุดมุ่งหมายของการจัดงานนี้ขึ้นมา เพื่อให้ลูกหลานได้แสดงความกตัญญูต่อบรรพบุรุษและสืบสานวัฒนธรรมของชาวเยอ ภายในงานนี้จะเห็นอัตลักษณ์ของชาวเยออย่างเด่นชัด เช่น การใช้ภาษาเยอ การแต่งกายด้วยชุดชาวเยอ การรำเซิ้งสะไนเพื่อเซ่นไหว้บรรพบุรุษของชาวเยอ รวมทั้งการจัดการแข่งขันพูดภาษาเยอ และการแข่งขันเป่าสะไนซึ่งเป็นเครื่องดนตรีพื้นบ้านของชาวเยอ นอกจากนี้ยังพบว่าการมีปฏิสัมพันธ์กับกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆของชาวเยอนั้นมีการปรับตัวได้ดี มีการรับวัฒนธรรมของกลุ่มอื่นและอยู่ร่วมกันกลับกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆในอำเภอราษีไศลได้จนถึงทุกวันนี้