Abstract:
เพลงเพื่อชีวิตหมายถึง บทเพลงที่นำเสนอแนวคิดเพื่อชีวิตและสังคมที่ดีกว่า วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์วาทกรรมที่ปรากฏในบทเพลงเพื่อชีวิต ภายใต้บริบททางการเมืองไทยในยุคประชาธิปไตยแบบทุนนิยม และเพื่อวิเคราะห์เนื้อหาเพลงเพื่อชีวิตในการถ่ายทอดแนวคิดและอุดมการณ์ทางการเมืองช่วง พ.ศ. 2525-2550 โดยเลือกศึกษาเนื้อหาของบทเพลงเพื่อชีวิตจากวงดนตรีเพลงเพื่อชีวิตระดับประเทศ 4 วง คือ วงคาราวาน วงคาราบาว พงษ์เทพ กระโดนชำนาญ และพงษ์สิทธิ์ คำภีร์ และศึกษาบทเพลงเพื่อชีวิตของวงดนตรีในระดับภูมิภาคอีก 3 ภูมิภาค ได้แก่ จรัล มโนเพ็ชร จากภาคเหนือ วงสะเลเต จากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และวงแฮมเมอร์ จากภาคใต้ ทั้งนี้แบ่งช่วงเวลาในการศึกษาตามบริบททางการเมืองออกเป็น 4 ช่วง ได้แก่ ช่วงประชาธิปไตยครึ่งใบ (2525-2530) ช่วงประชาธิปไตยเต็มใบแบบเศรษฐกิจเฟื่องฟู (2531-2539) ช่วงประชาธิปไตยเต็มใบกับภาวะวิกฤติเศรษฐกิจ (2540-2543) และช่วงประชาธิปไตยเต็มใบแบบเศรษฐกิจประชานิยม (2544-2550) ผลการศึกษาพบว่า วาทกรรมหลักและแนวคิดทางการเมืองของเพลงเพื่อชีวิตคือ การเรียกร้องประชาธิปไตยที่มีความเท่าเทียมและความยุติธรรม โดยคำว่า “ประชาธิปไตย” ที่ศิลปินเพื่อชีวิตเรียกร้องนั้น เป็นไปในสองแนวทาง กล่าวคือ แนวทางแรก ประชาธิปไตยในฐานะที่เป็นระบอบการปกครองรูปแบบหนึ่ง และแนวทางที่สอง ประชาธิปไตยในฐานะที่เป็นวิถีการดำรงชีวิตในสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องชนชั้น เชื้อชาติ และเศรษฐกิจ ซึ่งประชาธิปไตยในความหมายทั้งสองแนวทางมีความเกี่ยวพันกันอยู่มาก ทั้งนี้รายละเอียดของวาทกรรมการเรียกร้องประชาธิปไตย ได้แตกต่างไปตามบริบททางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมในช่วงเวลาต่างๆ
สำหรับความแตกต่างในรายละเอียดระหว่างวงดนตรีเพลงเพื่อชีวิตระดับประเทศและระดับท้องถิ่น พบว่าศิลปินระดับชาติมักจะแต่งเพลงที่สะท้อนปัญหาโดยมีแนวคิดมุ่งสู่การสะท้อนปัญหาเชิงโครงสร้าง ส่วนระดับท้องถิ่นมักจะนำเสนอเรื่องราวปัญหาที่เกี่ยวข้องกับท้องถิ่นของตนบทเพลงเพื่อชีวิต ยังคงสื่อความถึงเพื่อชีวิตและสังคมที่ดีกว่าดังเช่นความหมายในอดีต แต่รูปแบบของการนำเสนอผ่านบทเพลงมีความหลากหลายและซับซ้อนมากขึ้น จนกลายมาเป็นการเคลื่อนไหวผ่านบทเพลง (Music movement) ตามสภาพการเปลี่ยนแปลงในบริบทสังคม เศรษฐกิจและการเมือง นอกจากนั้นยังพบว่าเส้นแบ่งระหว่างสื่อสาธารณะและสื่อเชิงพาณิชย์ของเพลงเพื่อชีวิต กลายเป็นเพียงเส้นบางๆ เท่านั้น ซึ่งมีสาเหตุหลักมาจากกระบวนการทางธุรกิจ โดยเฉพาะกระบวนการสร้างความหมายของเพลงเพื่อชีวิต จากภาพลักษณ์ของศิลปิน อันส่งผลให้เนื้อหาของเพลงเพื่อชีวิตเปลี่ยนไปจากเพลงเพื่อชีวิตที่มีความหมายตามรากเหง้า กล่าวคือ เป็นบทเพลงที่สร้างขึ้นเพื่อช่วยเหลือและต่อสู้เพื่อสังคมหรือเพื่อรองรับการเคลื่อนไหว (Music for movement) ลดน้อยถอยลง และกลายเป็นบทเพลงที่มีเนื้อหาเป็นไปตามความต้องการของตลาดมากขึ้น ทำให้วงการเพลงเพื่อชีวิตถูกวิพากษ์วิจารณ์ทางลบจากสังคมเป็นวงกว้าง