Abstract:
ศึกษาผลของกลุ่มจิตวิทยาพัฒนาตนและการปรึกษาแนวพุทธที่มีต่อความเอื้อเฟื้อของนักศึกษาชั้นปีที่ 1 และศึกษาประสบการณ์และปรากฏการณ์ทางจิตใจเกี่ยวกับความเอื้อเฟื้อ หลังจากการเข้าร่วมกลุ่มด้วยข้อมูลเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ ข้อมูลเชิงปริมาณได้จากการวิจัยกึ่งทดลองแบบมีกลุ่มควบคุม ทดสอบก่อนและหลังการทดลอง กลุ่มตัวอย่างเป็นกลุ่มนักศึกษาชั้นปีที่ 1 จำนวน 28 คน ที่มีคะแนนจากแบบวัดความเอื้อเฟื้อเท่ากับหรือต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 0.5 ของค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน แบ่งเป็นกลุ่มทดลอง 2 กลุ่มๆละ 7 คนรวม 14 คน และกลุ่มควบคุม 2 กลุ่มๆ ละ 7 คนรวม 14 คน กลุ่มทดลองเข้าร่วมกลุ่มจิตวิทยาพัฒนาตนและการปรึกษาแนวพุทธ 2 วันต่อเนื่องกัน แบ่งเป็น 6 ช่วง ช่วงละประมาณ 3 ชั่วโมง รวมเวลาประมาณ 18 ชั่วโมง แล้ววัดระดับความเอื้อเฟื้อ 3 ครั้งได้แก่ ก่อนการทดลอง หลังการทดลอง และระยะติดตามผล 2 สัปดาห์ ด้วยแบบวัดความเอื้อเฟื้อ วิเคราะห์ข้อมูลด้วยการวิเคราะห์ความแปรปรวนสองทางแบบวัดซ้ำ วิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียวแบบวัดซ้ำ และการทดสอบค่าที ข้อมูลเชิงคุณภาพได้จากการสัมภาษณ์แบบกึ่งมีโครงสร้าง จากนักศึกษากลุ่มทดลองที่เต็มใจให้สัมภาษณ์จำนวน 5 คน ผลการวิจัยพบว่า 1. หลังการทดลองและระยะติดตามผล 2 สัปดาห์ นักศึกษาชั้นปีที่ 1 ที่เข้ากลุ่มจิตวิทยาพัฒนาตนและการปรึกษาแนวพุทธ มีคะแนนความเอื้อเฟื้อสูงกว่าก่อนเข้ากลุ่มอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 2. หลังการทดลอง และในระยะติดตามผล 2 สัปดาห์ นักศึกษาชั้นปีที่ 1 ที่เข้ากลุ่มมีคะแนนความเอื้อเฟื้อสูงกว่านักศึกษาชั้นปีที่ 1 ที่ไม่ได้เข้ากลุ่มอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 และ .05 ตามลำดับ 3. การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพ พบว่า จากการเรียนรู้ประสบการณ์กลุ่มของสมาชิก จะช่วยขยายภาวะจิตใจให้สมาชิกได้เข้าใจ ยอมรับ ตระหนักถึงคุณค่าในตนเองและผู้อื่น และรู้สึกพร้อมที่จะช่วยเหลือผู้อื่น อันเป็นปัจจัยที่ช่วยให้มีความเอื้อเฟื้อเพิ่มสูงขึ้น สัมพันธภาพที่อบอุ่น เป็นมิตร มีการยอมรับและความเข้าใจ ที่เอื้อโดยผู้นำกลุ่ม น่าจะเป็นปัจจัยเบื้องต้นที่นำไปสู่การพัฒนาความเอื้อเฟื้อของสมาชิกในกลุ่ม