Abstract:
ศึกษาผลของกิจกรรมพัฒนาการสื่อสารตามแนวคิดซาทีร์ ที่มีต่อความพึงพอใจในชีวิตของนักศึกษาพยาบาล โดยมีสมมติฐานการวิจัย 2 ประการคือ 1. นักศึกษาพยาบาลที่เข้าร่วมกิจกรรมพัฒนาการสื่อสารตามแนวคิดซาทีร์ มีคะแนนความพึงพอใจในชีวิตหลังการเข้าร่วมกิจกรรมสูงกว่าก่อนการเข้าร่วมกิจกรรม 2. นักศึกษาพยาบาลที่เข้าร่วมกิจกรรมพัฒนาการสื่อสารตามแนวคิดซาทีร์ มีคะแนนความพึงพอใจในชีวิตสูงกว่านักศึกษาพยาบาลที่ไม่ได้เข้าร่วมกิจกรรม รูปแบบการวิจัย มีกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม มีการทดสอบก่อนการทดลอง หลังการทดลอง และในกลุ่มทดลองมีการติดตามผลภายหลังการทดลอง 3 สัปดาห์ กลุ่มตัวอย่างเป็นนักศึกษาพยาบาลวิทยาลัยพยาบาลกองทัพเรือ จำนวน 22 คน ที่มีความสมัครใจเข้าร่วมการทดลอง โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มทดลองจำนวน 11 คน และกลุ่มควบคุมจำนวน 11 คน กลุ่มทดลองได้เข้าร่วมกิจกรรมพัฒนาการสื่อสารตามแนวคิดซาทีร์ เป็นเวลาทั้งสิ้น 3 ครั้ง โดยแบ่งเป็น 8 ช่วง (Session) รวมระยะเวลาประมาณ 19 ชั่วโมง ผู้วิจัยเป็นผู้นำกิจกรรม สำหรับกลุ่มควบคุมผู้วิจัยไม่ได้จัดกิจกรรมใดให้ในช่วงที่กลุ่มทดลองเข้าร่วมกิจกรรมพัฒนาการสื่อสารตามแนวคิดซาทีร์ เครื่องมือที่ใช้ในงานวิจัยนี้คือ แนวทางการดำเนินกิจกรรมพัฒนาการสื่อสารตามแนวคิดซาทีร์ ที่ผู้วิจัยได้พัฒนามาจาก โปรแกรมพัฒนาการสื่อสารของ พีรพัฒน์ ถวิลรัตน์ (2547) และแบบวัดความพึงพอใจในชีวิตที่ผู้วิจัยได้พัฒนามาจากแนวคิดเรื่องความพึงพอใจในชีวิตของ Neugarten และคณะ (1961) วิเคราะห์ข้อมูลโดยการทดสอบความแตกต่างของค่าเฉลี่ยคะแนนความพึงพอใจในชีวิต ด้วยวิธีการทดสอบค่าที ผลการวิจัยพบว่า 1. หลังการทดลอง นักศึกษาพยาบาลที่เข้าร่วมกิจกรรมพัฒนาการสื่อสารตามแนวคิดซาทีร์ มีคะแนนความพึงพอใจในชีวิตสูงกว่านักศึกษาพยาบาลที่ไม่ได้เข้าร่วมกิจกรรมพัฒนาการสื่อสารตามแนวคิดซาทีร์ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 2. หลังการทดลองนักศึกษาพยาบาลที่เข้าร่วมกิจกรรมพัฒนาการสื่อสารตามแนวคิดซาทีร์ มีคะแนนความพึงพอใจในชีวิตสูงกว่าก่อนเข้าร่วมกิจกรรมพัฒนาการสื่อสารตามแนวคิดซาทีร์อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .001 3. ในระยะติดตามผล 3 สัปดาห์ นักศึกษาพยาบาลที่เข้าร่วมกิจกรรมพัฒนาการสื่อสารตามแนวคิด ซาทีร์มีคะแนนความพึงพอใจในชีวิตไม่แตกต่างจากระยะหลังการทดลอง