Abstract:
ข้อมูลของแม่สุกรพันธุ์แท้แลนด์เรซ (LR) ลาร์จไวท์ (LW) และแม่สุกรลูกผสม 50% แลนด์เรซ – 50% ลาร์จไวท์ (50LR) 50% ลาร์จไวท์ – 50% แลนด์เรซ (50LW) 75% แลนด์เรซ – 25 % ลาร์จไวท์ (75LR) และ 75% ลาร์จไวท์ – 25 % แลนด์เรซ (75LW) ของฟาร์มที่เลี้ยงสุกรแบบการค้าแห่งหนึ่งทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย ถูกนำมาใช้ประมาณค่าพารามิเตอร์ทางพันธุกรรมสำหรับลักษณะระยะหย่านมถึงผสมครั้งแรก (WSI) ในหกลำดับครอกแรก และวิเคราะห์ร่วมกับลักษณะอายุที่ผสมติดครั้งแรก (AFC) จำนวนลูกสุกรแรกเกิดทั้งหมด (TB) และจำนวนลูกสุกรแรกเกิดมีชีวิต (BA) จำนวนทั้งหมด 23,075 บันทึก จากแม่สุกรจำนวน 6,343 แม่ ที่คลอดลูกระหว่างปี พ.ศ. 2545 ถึง 2549 วิเคราะห์องค์ประกอบความแปรปรวนโดยวิธี Average Information Restricted Maximum Likelihood (AI-REML) ผลจากการศึกษาพบว่า ปี-เดือนที่หย่านม อายุที่คลอดลูกครั้งแรก (ลำดับครอกที่ 1) ช่วงห่างในการคลอดลูกมีอิทธิพลต่อ WSI ในลำดับครอกที่ 2 3 และ 5 และจำนวนลูกหย่านมมีอิทธิพลต่อ WSI ในลำดับครอกที่ 2 และ 6 อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P < 0.05) และค่าอัตราพันธุกรรม (h2) ของ WSI มีค่าต่ำในทุกลำดับครอก ค่าอัตราพันธุกรรมมีค่าอยู่ในช่วง 0.09 ในลำดับครอกที่ 1 ถึง 0.02 ในลำดับครอกที่ 6 โดยที่ค่าอัตราพันธุกรรมของ WSI ในลำดับครอกที่ 1 มีค่าสูงสุด (0.09) ค่าสหสัมพันธ์ทางพันธุกรรม (rg) ระหว่าง WSI ในลำดับครอกที่1 ถึง 6 มีค่าอยู่ในช่วง 0.24 ถึง 0.88 ค่าสหสัมพันธ์ทางพันธุกรรมที่ประมาณได้ทุกค่ามีค่าต่างจาก 1 ผลจากการศึกษาสรุปได้ว่า ผลตอบสนองจากการคัดเลือกลักษณะ WSI คาดว่าจะเกิดขึ้นสูงสุดในลำดับครอกที่ 1 และควรพิจารณาให้ WSI ที่มาจากต่างลำดับครอกเป็นคนละลักษณะกันเพื่อให้ค่าพารามิเตอร์ทางพันธุกรรมมีความแม่นยำยิ่งขึ้น ค่าสหสัมพันธ์ทางพันธุกรรมในการให้ผลผลิตครั้งแรกระหว่าง AFC กับ TB BA และ WSI เป็นไปในทิศทางที่พึงประสงค์ มีค่าเท่ากับ -0.47, -0.72 และ 0.61 ตามลำดับ ค่าสหสัมพันธ์ทางพันธุกรรมระหว่าง TB และ WSI เป็นไปในทิศทางที่ไม่พึงประสงค์ แต่มีขนาดความสัมพันธ์ต่ำ และสามารถสรุปได้ว่าถ้าทำการคัดเลือกเพื่อลด AFC จะทำให้ TB BA เพิ่มขึ้น และ WSI ลดลงในลำดับครอกที่ 1 และถ้าคัดเลือก TB ให้เพิ่มขึ้น จะทำให้ WSI เพิ่มขึ้นเล็กน้อย