Abstract:
การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลตอบสนองของตลาดต่อการเปลี่ยนแปลงการบัญชีเงินลงทุนจากวิธีส่วนได้เสียเป็นวิธีราคาทุน โดยการวัดจากการเปลี่ยนแปลงของผลตอบแทนที่ผิดปกติสะสมจากการลงทุนในหลักทรัพย์ (Cumulative Abnormal Return หรือ CAR) โดยถือเป็นตัวแปรตามที่เปลี่ยนแปลงตามการเปลี่ยนแปลงของวิธีการบัญชี นอกจากนี้ยังได้ศึกษาถึงปัจจัยอื่นๆ ที่อาจมีผลต่อผลตอบแทนที่ผิดปกติสะสม ได้แก่ อัตราส่วนของหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (D/E ratio) ความเสี่ยงที่เป็นระบบจากการลงทุนในหลักทรัพย์ (β) ตัวเลขที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางการบัญชี อันได้แก่ ผลกระทบสะสม ผลกระทบต่อกำไรสุทธิ และปัจจัยสุดท้าย คือ กลุ่มอุตสาหกรรม การศึกษาใช้ข้อมูลจากบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเฉพาะบริษัทในกลุ่ม SET 50 INDEX ยกเว้นกลุ่มธุรกิจการเงิน โดยใช้วิธีการวิเคราะห์ความแปรปรวนแบบทางเดียว (One-way ANOVA) และการวิเคราะห์ความถดถอยเชิงพหุ (Multiple Regression Analysis) ในการวิเคราะห์ข้อมูล ผลจากการวิเคราะห์ความแปรปรวนแบบทางเดียว (One-way ANOVA) พบว่าผลตอบแทนที่ผิดปกติสะสมจากการลงทุนไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าบริษัทมีการเปลี่ยนวิธีการบันทึกบัญชีเงินลงทุนในบริษัทย่อยและบริษัทร่วม ส่วนการวิเคราะห์ความถดถอยเชิงพหุ (Multiple Regression Analysis) ในการศึกษาปัจจัยอื่นๆ ที่อาจจะเกี่ยวข้อง พบว่า การเปลี่ยนแปลงวิธีการบัญชีเงินลงทุน อัตราส่วนของหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (D/E ratio) ความเสี่ยงที่เป็นระบบจากการลงทุนในหลักทรัพย์ (β) ตัวเลขที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางการบัญชี อันได้แก่ ผลกระทบสะสม ผลกระทบต่อกำไรสุทธิไม่มีความสัมพันธ์กับผลตอบแทนที่ผิดปกติสะสมจากการลงทุนในหลักทรัพย์ (Cumulative Abnormal Return หรือ CAR) อย่างไรก็ตาม กลุ่มอุตสาหกรรมเป็นเพียงปัจจัยเดียวที่มีความสัมพันธ์กับผลตอบแทนที่ผิดปกติสะสมจากการลงทุนในหลักทรัพย์(Cumulative Abnormal Return หรือ CAR) ผลการศึกษาโดยสรุป คือ ไม่มีปัจจัยอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องเลยนอกจากกลุ่มอุตสาหกรรมเท่านั้นที่มีส่วนในการตัดสินใจลงทุนของนักลงทุน