Abstract:
การกำหนดนโยบายสาธารณะด้านการใช้พลังงานทดแทนเอทานอลและแก๊สโซฮอล์ (ด้านพลังงานทดแทนเอทานอลและแก๊สโซฮอล์) ถูกกำหนดขึ้นเพื่อบรรเทาปัญหาสภาวะราคาน้ำมันแพง โดยการใช้พืชคือมันสำปะหลังและอ้อย เพื่อผลิตเป็นเอทานอล วัตถุประสงค์ในการศึกษาคือ ศึกษาเนื้อหาและพัฒนาการของนโยบายพลังงานทดแทนเอทานอลและ
แก๊สโซฮอล์ในแต่ละช่วงรัฐบาล และศึกษาผลประโยชน์และผลกระทบที่ตัวแสดงกลุ่มต่างๆได้รับจากการกำหนดนโยบายพลังงานทดแทนเอทานอลและแก๊สโซฮอล์ ช่วงเวลาการศึกษาตั้งแต่สมัยรัฐบาลพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร รัฐบาลพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ และรัฐบาลสมัคร สุนทรเวช ผลการศึกษาพบว่า กลุ่มปิโตรเลียมและโรงกลั่น กลุ่มโรงงานผลิตเอทานอลเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิง และกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์และอะไหล่ยนต์ ได้รับผลประโยชน์โดยตรงจากการกำหนดนโยบาย ส่วนกลุ่มอุตสาหกรรมการเกษตรได้ประโยชน์ทางอ้อม เนื่องจากกลุ่มทุนทั้ง 4 กลุ่มเป็นกลุ่มทุนขนาดใหญ่ ซึ่งมีความสัมพันธ์กับรัฐบาลอย่างใกล้ชิดทั้งในเชิงการอุปถัมภ์และการสนับสนุน การกำหนดนโยบายของรัฐบาลจึงสะท้อนผลประโยชน์ของกลุ่มทุน ขณะที่กลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังและอ้อย ที่ควรจะได้รับประโยชน์จากนโยบาย ไม่ได้รับประโยชน์ดังกล่าว และการศึกษาพบว่ารัฐบาลทั้ง 3 สมัย มีทิศทางการกำหนดนโยบายโดยภาพรวมที่คล้ายคลึงกันคือ สนับสนุนการใช้พลังงานทดแทนเอทานอลและแก๊สโซฮอล์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และกลุ่มทุนต่างๆก็ยังคงได้รับผลประโยชน์จากการกำหนดนโยบายของรัฐบาล นอกจากนี้ การศึกษาพบว่าภาคประชาสังคมไทยมีส่วนร่วมในระดับน้อยในการกำหนดนโยบาย จึงทำให้ดูเหมือนว่ารัฐบาลและกลุ่มทุนจะเป็นฝ่ายที่ใกล้ชิดกัน ในขณะที่ภา
ประชาสังคมอยู่ห่างออกไป ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับนโยบายนี้