Abstract:
งานศึกษาชิ้นนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์ความขัดแย้ง และ ความรุนแรงทางการเมือง ในระหว่าง พ.ศ.2540-2553 โดยอาศัยกรอบแนวคิดทางด้านเศรษฐศาสตร์ในเรื่องการแสวงหาค่าเช่าทางเศรษฐกิจ (Rentseeking) และ การปกป้องค่าเช่าทางเศรษฐกิจ (Rent protection) เป็นทฤษฎีหลักในการอธิบาย ผลการศึกษา พบว่า การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ อาทิ การเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ พ.ศ. 2540 และ การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง อาทิ การเกิดรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2540 ได้ส่งผลให้เกิดการโยกย้ายพลังอำนาจทางการเมือง และ เศรษฐกิจ จากกลุ่มทุนเก่า อาทิ กลุ่มทุนธนาคาร และ กลุ่มทุนสถาบันพระมหากษัตริย์ไปสู่กลุ่มทุนการเมืองชินวัตร และ เครือข่าย ซึ่งทำให้ ค่าเช่าทางเศรษฐกิจ ถูกโอนย้ายตามไปด้วยทั้งนี้ ค่าเช่าทางเศรษฐกิจของกลุ่มทุนการเมือง ชินวัตร มีขนาดสูงขึ้นเป็นลำดับ ภายหลังจาก พ.ศ. 2544
กลับกัน ขนาดค่าเช่าทางเศรษฐกิจของกลุ่มทุนเก่า กลับมีส่วนแบ่งน้อยลงเรื่อยๆ เมื่อเทียบกับขนาดค่าเช่าทางเศรษฐกิจโดยรวม อีกทั้ง เสถียรภาพทางการเมือง ยังมีความผกผันกับ การกระจุกตัวของค่าเช่าทางเศรษฐกิจที่อยู่กับกลุ่มทุนการเมืองชินวัตร ดังนั้น งานศึกษานี้จึงสรุปว่า การแย่งชิงค่าเช่าทางเศรษฐกิจน่าที่จะเป็นสาเหตุหลักของความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้นในช่วงก่อนการรัฐประหาร และ เป็นปัจจัยที่ส่งเสริมให้เกิดการรัฐประหาร
19 กันยายน 2549 ในเวลาต่อมาผลการศึกษา ยังชี้อีกว่า ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นจากการ แย่งชิงส่วนเกินทางเศรษฐกิจระหว่างกลุ่ม
เศรษฐกิจการเมืองนี้ มีการเปลี่ยนแปลงไปหลังการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 โดย ประชาชนจำนวนมากซึ่งเคยได้รับ ประโยชน์จากชุดนโยบายประชานิยม ซึ่งถือเป็นลักษณะหนึ่งของค่าเช่าจากการกระจายใหม่(Redistributive rent) ได้ออกมาเรียกร้องทางการเมือง ผนวกกับกลุ่มอุดมการณ์ที่ต่อต้านเผด็จการทหาร ได้เข้ามา
มีส่วนด้วย ยิ่งส่งผลให้ ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองมีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้นข้อสรุปผลการศึกษานำมาสู่ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในเรื่องของการ เพิ่มต้นทุนในการแสวงหาค่าเช่าทาง
เศรษฐกิจ เพื่อที่จะลด การแสวงหาค่าเช่าของผู้มีอำนาจรัฐ และเปิดพื้นที่การแข่งขันจากกลุ่มทุนที่อยู่นอกอำนาจรัฐ ให้สามารถแข่งขันได้มากยิ่งขึ้น ในขณะเดียวกันก็ควรที่จะสนับสนุนให้เกิด กลุ่มทุนที่พึ่งพิงค่าเช่านวัตกรรม(Schumpeterian rent) ซึ่งสามารถสร้างค่าเช่าทางเศรษฐกิจได้โดยไม่ต้องพึ่งพิงอำนาจรัฐเพียงอย่างเดียว โดยหวังว่า การพัฒนาของกลุ่มทุนนวัตกรรมดังกล่าวจะช่วยให้ ความขัดแย้งในการเข้าสู่อำนาจรัฐเพื่อผูกขาดค่าเช่าลดลงได้ในระยะยาวเช่นเดียวกัน