Abstract:
วัตถุประสงค์ในการศึกษาครั้งนี้คือ 1) เพื่อวิเคราะห์มโนทัศน์ความเป็นสมัยใหม่( Modernity) ของ Anthony Giddens 2) เพื่ออธิบายถึงกระบวนการการครอบงำทางการแพทย์ (Medicalization) ในสังคมไทย 3) เพื่อวิเคราะห์ความเสี่ยงของคนไทย อันเกิดจากการให้ความเชื่อมั่นและศรัทธาในผู้เชี่ยวชาญทางด้านการแพทย์ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญ (Expert system) หนึ่งของสังคมไทย 4)เพื่อนำข้อค้นพบไปกำหนดแนวทางในการสร้างกลไกทางสังคมเพื่อสร้างความเป็นธรรมและความปลอดภัยในสังคมไทย กลุ่มตัวอย่างที่ใช้สำหรับการวิจัยครั้งนี้คือ กลุ่มผู้เสียหายที่ได้รับผลกระทบจากการเข้ารับการรักษาจากแพทย์ โดยได้ร้องเรียนมายังมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและเครือข่ายผู้ได้รับความเสียหายทางการแพทย์ รวมทั้งเรื่องราวของกลุ่มผู้เสียหายต้องได้ยื่นเรื่องฟ้องต่อศาล เพื่อแสดงให้เห็นว่าเรื่องราวดังกล่าวเป็นความผิดพลาดที่เกิดขึ้นจากการแพทย์จริง ทำการเก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างด้วยการสัมภาษณ์แบบเจาะลึก (In-depth interview)และการวิเคราะห์ข้อมูลใช้วิธีการวิเคราะห์เนื้อหา (Content analysis) ผลการศึกษาสรุปได้ดังนี้ 1) ความทันสมัยและระบบผู้เชี่ยวชาญที่เป็นผลมาจากการพัฒนาทางวิทยาศาสตร์ ทำให้เกิดความเสี่ยงด้านสุขภาพในสังคมไทย 2) กระบวนการการครอบงำทางการแพทย์ (Medicalization) ในสังคมไทย ผ่านเข้ามาในรูปแบบต่างๆ ได้แก่ รูปแบบการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยทางการแพทย์ รูปแบบของการเป็นธุรกิจทางการแพทย์ รูปแบบของความเป็นสัญลักษณ์ทางการแพทย์ 3) ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากความผิดพลาดในระบบบริการทางการแพทย์ ทำให้คนไข้มีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบที่เกิดขึ้นจากความผิดพลาดในระบบบริการทางการแพทย์ 5 ด้าน คือ ความเสี่ยงทางร่างกาย ความเสี่ยงด้านจิตใจ ความเสี่ยงด้านสังคม ความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจ ความเสี่ยงด้านความสัมพันธ์ในครอบครัว