Abstract:
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาความสัมพันธ์และความสามารถในการพยากรณ์ของปัจจัยส่วนบุคคล ความกลัวต่อปฏิกิริยาตอบสนองจากบุคคลสำคัญ การเผชิญความเครียด การสนับสนุนทางสังคม กับภาพลักษณ์ของผู้ป่วยมะเร็งเต้านมหลังผ่าตัด โดยใช้กรอบแนวคิดของ Price (1990) และ Newell (2000) กลุ่มตัวอย่าง คือ ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมหลังผ่าตัดเต้านมออกที่อยู่ในระยะหลังผ่าตัดไม่เกิน 1 เดือน จำนวน 130 ราย สุ่มตัวอย่างโดยการเลือกแบบเจาะจง จากโรงพยาบาลตติยภูมิ 8 แห่ง ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย คือ แบบสอบถามปัจจัยส่วนบุคคล แบบสอบถามความกลัวต่อปฏิกิริยาตอบสนองจากบุคคลสำคัญ แบบสอบถามการเผชิญความเครียด แบบสอบถามการสนับสนุนทางสังคม และแบบสอบถามภาพลักษณ์ ซึ่งผ่านการตรวจสอบความตรงตามเนื้อหาโดยผู้ทรงคุณวุฒิ หาความเที่ยงโดยวิธีของครอนบาค ได้ค่าสัมประสิทธิ์แอลฟาของครอนบาคเท่ากับ .91, .72, .88 และ .89 ตามลำดับ วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้โปรแกรมสำเร็จรูป SPSS/FW version 10 โดยการหาค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน หาความสัมพันธ์โดยใช้สถิติ Eta และสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ของเพียร์สัน และวิเคราะห์ถดถอยพหุคูณแบบขั้นตอน ผลการวิจัยพบว่า 1. ความกลัวต่อปฏิกิริยาตอบสนองจากบุคคลสำคัญ การเผชิญความเครียดด้านการจัดการกับอารมณ์และการเผชิญความเครียดด้านการบรรเทาความรู้สึกเครียด มีความสัมพันธ์ทางบวกกับภาพลักษณ์ของผู้ป่วยมะเร็งเต้านมหลังผ่าตัดในระดับสูง ปานกลาง และต่ำตามลำดับ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 (r = .561, .464 และ .145 ตามลำดับ) 2. ความกลัวต่อปฏิกิริยาตอบสนองจากบุคคลสำคัญและการเผชิญความเครียดด้านการจัดการกับอารมณ์ สามารถร่วมกันพยากรณ์ภาพลักษณ์ของผู้ป่วยมะเร็งเต้านมหลังผ่าตัดได้ร้อยละ 36 (R[square] = .36) อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 โดยสามารถสร้างสมการพยากรณ์ในรูปคะแนนมาตรฐานได้ดังนี้ Z[subscript ภาพลักษณ์] = .439Z[subscript ความกลัวต่อปฏิกิริยาตอบสนองจากบุคคลสำคัญ] + .253Z[subscript การเผชิญความเครียดด้านการจัดการกับอารมณ์]