Abstract:
สุรินทร์เป็นจังหวัดยากจน มีรายได้เฉลี่ยต่อหัวต่ำติดอันดับที่ 74 ของประเทศ จากทั้งหมด 76 จังหวัด ใน พ.ศ.2547 ช้างและชาวกูยผู้เลี้ยงช้างรายเล็กเป็นหนึ่งในกลุ่มบุคคลชายขอบที่ประสบปัญหาเรื่องปากท้อง สืบเนื่องจากทรัพยากรธรรมชาติโดยเฉพาะป่าในท้องถิ่นถูกทำลายหรือเสื่อมโทรมลงเพียงหนึ่งช่วงอายุคน ผลการศึกษากลุ่มตัวอย่างชาวกูยผู้เลี้ยงช้าง 39 คน ณ หมู่บ้านตากลาง พบว่า การเลี้ยงช้างเป็นรายได้หลักของครัวเรือน ส่วนรายได้รองคือการทำนา และรายได้จากแหล่งอื่นๆ รายได้สุทธิเฉลี่ยต่อเดือนของครัวเรือน คือ 8,295 บาท แบ่งออกเป็นรายได้สุทธิจากการเลี้ยงช้างร้อยละ 46 รายได้สุทธิจากการทำนาร้อยละ 40 และรายได้สุทธิอื่นๆร้อยละ 14 โดยผลของรายได้สุทธิมาจาก รายได้หักด้วยต้นทุนการผลิต แม้ว่าการเลี้ยงช้างจะทำรายได้มาก แต่ต้นทุนการเลี้ยงช้างเป็นต้นทุนที่สูงที่สุดคิดเป็นร้อยละ 86 ของต้นทุนการผลิตของควาญช้างทั้งหมดเช่นกัน ชาวกูยพึ่งพาช้างเพื่อทำมาหากินได้ เนื่องจากพวกเขามีทักษะความสามารถในการควบคุมช้าง ซึ่งเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่ตกทอดกันมาจากอดีต ประกอบกับคนในสังคมต้องการสินค้าและบริการต่างๆ จากช้าง แต่ชาวกูยต้องเผชิญกับทัศนคติด้านลบจากคนในสังคม ซึ่งผูกติดกับรูปแบบที่ช้างถูกใช้เป็นสัญลักษณ์แทนสถาบันหลักของไทย คือ ชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ ส่งผลให้การใช้ช้างทำงานและควาญช้างไม่ถูกยอมรับจากคนในสังคมไทย ในขณะที่การพาช้างมาเร่ร่อน เป็นวิธีการลดปัญหาต้นทุนการเลี้ยงช้างที่ได้ผลที่สุดภายใต้ข้อจำกัดที่มีอยู่ของชาวกูย การศึกษากระบวนการทำให้ช้างกลายเป็นสินค้าภายใต้ระบบทุนนิยม และการชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการเลี้ยงช้างกับรายได้ของชาวกูยภายใต้พลวัตการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เป็นข้อมูลจำเป็น เพื่อช่วยให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันคิดหาทางออกในการแก้ปัญหาเรื่องช้างที่เหมาะสม