Abstract:
วิทยานิพนธ์นี้จึงมีวัตถุประสงค์ที่จะศึกษาความเป็นมาของ เฮดจ์ฟันด์ ในลักษณะ Historical Approach ตั้งแต่การเกิด รูปแบบ กลไกการทำงาน และพัฒนาการในบริบทของโลกาภิวัตน์ทางการเงิน เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องในเรื่องเฮดจ์ฟันด์เพื่อการพัฒนาระบบเศรษฐกิจการเงินของไทยให้เจริญเติบโตอย่างยั่งยืน เนื่องจากบทเรียนจากวิกฤติเศรษฐกิจที่ผ่านมาพิสูจน์ให้เห็นว่า ความรู้ความเข้าใจในเรื่องเฮดจ์ฟันด์ของสังคมไทยยังมีอยู่ในระดับจำกัด จากการที่คนทั้งภาครัฐและเอกชนไทยจำนวนมากขาดความเข้าใจต่อสถานการณ์ความเป็นไปและผลกระทบต่อเศรษฐกิจที่เกิดจากเฮดจ์ฟันด์ จึงนำมาซึ่งการแก้ไขปัญหาอย่างไม่ตรงประเด็น สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน โดยการวิจัยนี้จึงใช้กองทุนควอนตั้มฟันด์ของ บริษัท โซรอส ฟันด์เมเนจเม้นท์ ของนาย จอร์จ โซรอส (George Soros) เป็นกรณีศึกษาเปรียบเทียบกับการพัฒนาของเศรษฐกิจการเงินของโลก เนื่องจากการเปิดเผยข้อมูลด้านการลงทุนของเฮดจ์ฟันด์มีอยู่อย่างจำกัดทำให้งานวิจัยเกี่ยวกับเรื่องนี้ในประเทศไทยยังมีอยู่ไม่มากนัก ข้อมูลส่วนใหญ่จำต้องอาศัยเอกสารต่างประเทศ หรือแหล่งข้อมูลจากต่างประเทศ เช่น การสัมภาษณ์นักค้าเงินต่างชาติ ฯลฯ ดังนั้น การวิเคราะห์จึงอยู่ในลักษณะของมุมมองจากภายนอก จากการวิจัยเรื่องเฮดจ์ฟันด์ได้ผลสรุป ดังนี้ 1) เฮดจ์ฟันด์ไม่ได้เป็นสิ่งใหม่แต่ได้เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 1950 โดยมีความซับซ้อนขึ้นตามสภาวะแวดล้อมของโลกที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงภายใต้การผลักดันของฉันทามติวอชิงตันของประเทศทุนนิยมศูนย์กลางผ่านองค์กร เช่น World Bank, IMF, WTO ฯลฯ 2) คำว่าเฮดจ์ฟันด์มีความหมายกว้างกว่าที่ผู้คนเข้าใจ เนื่องจาก “เฮดจ์ฟันด์” เป็นคำที่ใช้เรียกประเภทของกองทุนที่มีกลยุทธ์การลงทุนหลากหลายแตกต่างกัน ทำให้คำว่า Hedge นี้ดูจะมีความหมายที่แคบเกินไปกว่าสิ่งที่เฮดจ์ฟันด์กระทำอยู่ในปัจจุบัน โดยเฮดจ์ฟันด์จำนวนมากทำการลงทุนโดยมิได้เน้นการทำ Hedging หรือ การป้องกันความเสี่ยง 3) เฮดจ์ฟันด์สามารถวิวัฒนาการได้ตามขบวนการโลกาภิวัตน์ที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างสถาบัน โดยผู้จัดการกองทุนเฮดจ์ฟันด์จึงพยายามหาข้อบกพร่องของระบบและช่องว่างในการทำกำไรตามสภาวการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป หากมีโอกาสเกิดขึ้นในตลาดใดเฮดจ์ฟันด์จะเป็นกลุ่มแรกๆ ที่ปรับกลยุทธ์และหาช่องว่างเข้าไปทำกำไรในตลาดนั้นๆ 4) เฮดจ์ฟันด์ให้ทั้งคุณและโทษต่อระบบเศรษฐกิจการเงินโลก ในแง่ประโยชน์นั้น เฮดจ์ฟันด์ได้ช่วยกระจายความเสี่ยงในการลงทุน
เนื่องจากเฮดจ์ฟันด์มีค่าสหสัมพันธ์ที่ต่ำเมื่อเทียบกับผลตอบแทนจากการลงทุนในสินทรัพย์แบบดั้งเดิม (Traditional Portfolio Investment) นอกจากลงทุนของเฮดจ์ฟันด์ยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้ตลาดได้แก่ การช่วยเพิ่มสภาพคล่องในการซื้อขายหลักทรัพย์ การทำให้ราคาหลักทรัพย์ปรับเข้าสู่ราคาพื้นฐานด้วยความรวดเร็วยิ่งขึ้น แต่สำหรับตลาดที่มีขนาดเล็กการลงทุนของเฮดจ์ฟันด์อาจให้ผลตรงกันข้ามได้เนื่องจากตลาดขาดความลึกและมีสภาพคล่องต่ำ ทำให้การลงทุนของเฮดจ์ฟันด์ขนาดใหญ่สามารถสร้างความผันผวนให้กับตลาดได้ ยิ่งไปกว่านั้นเฮดจ์ฟันด์อาจสร้างความเสียหายต่อสถาบันการเงินและตลาดการเงินได้ หากเฮดจ์ฟันด์ทำการกู้ยืมเพื่อการลงทุนมากเกินไป ทำให้เกิดผลกระทบในลักษณะปฏิกิริยาลูกโซ่ที่ทำให้เกิดการทรุดตัวของทั้งตลาดเงินและตลาดทุนอย่างรุนแรง ซึ่งจะสร้างผลเสียหายอย่างมหาศาล จากปรากฏการณ์ที่เรียกว่า “Spiral Down from Contagion Effect” ซึ่งนำไปสู่วิกฤติของระบบเศรษฐกิจได้ 5) การกำกับดูแลเฮดจ์ฟันด์ยังไม่สามารถเกิดขึ้นได้ในอนาคตอันใกล้ เนื่องจากความสัมพันธ์ทางด้านผลประโยชน์ของเศรษฐกิจการเมืองสหรัฐฯและเฮดจ์ฟันด์มีอยู่ในระดับสูง 6) เฮดจ์ฟันด์ยังจะขยายตัวต่อไปในอัตราที่สูงต่อไปในอนาคต ถึงแม้ว่าเฮดจ์ฟันด์บางกลยุทธ์จะมีอัตราการทำกำไรที่ลดลงเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างสถาบัน แต่เฮดจ์ฟันด์ก็จะปรับตัวให้สอดรับกับโลกาภิวัฒน์ตลอดเวลาไม่ว่าสถานการณ์โลกจะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางใดก็ตาม ผนวกกับการที่ธนาคารได้รุกเข้าไปทำธุรกิจเฮดจ์ฟันด์ สิ่งนี้ได้ช่วยเสริมศักยภาพให้อุตสาหกรรมเฮดจ์ฟันด์ได้รับการยอมรับจากผู้ลงทุนมากยิ่งขึ้น และจะช่วยผลักดันให้เกิดการขยายตัวของเฮดจ์ฟันด์สู่นักลงทุนรายย่อยได้ในที่สุด และท้ายที่สุด คือ การสนับสนุนจากภาครัฐ ได้แก่ ฮ่องกง และสิงคโปร์ ซึ่งได้กลายเป็นศูนย์กลางแห่งใหม่ของเฮดจ์ฟันด์ในเอเชีย ซึ่งการสนับสนุนจากภาครัฐนี้จึงนับเป็นตัวแปรสำคัญต่อความรุ่งเรืองของเฮดจ์ฟันด์เอเชียทั้งในปัจจุบันและอนาคต