Abstract:
ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาระดับเงินทุนสำรองระหว่างประเทศของกลุ่มประเทศอาเซียนมีการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตามการเก็บสะสมเงินทุนสำรองมากเกินไปนั้นก่อให้เกิดต้นทุนที่สูง ดังนั้นการศึกษานี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อทำการศึกษาปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจมหภาคที่มีอิทธิพลต่อการกำหนดระดับเงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่เหมาะสมและเปรียบเทียบระดับเงินทุนสำรองระหว่างประเทศกับระดับเงินทุนสำรองที่เหมาะสมดังกล่าว โดยอาศัยการวิเคราะห์ต้นทุนและผลประโยชน์ในการศึกษาเพื่อตอบวัตถุประสงค์ในข้างต้น ขั้นตอนการดำเนินการศึกษานี้ได้แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกคือการวิเคราะห์ปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจมหภาคที่มีผลต่อการกำหนดระดับเงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่เหมาะสมด้วยวิธี Panel two-stage regression analysis ส่วนที่สองนำผลการศึกษาในส่วนแรกมาทำการประมาณการระดับเงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่เหมาะสมของกลุ่มประเทศอาเซียน โดยอาศัยข้อมูลจากกลุ่มประเทศอาเซียนทั้งหมด 7 ประเทศในช่วงปี พ.ศ. 2533-2552 ผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานของอัตราส่วนระดับเงินทุนสำรองระหว่างประเทศต่อปริมาณเงินตามความหมายกว้างซึ่งเป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดความผันผวนของกระแสเงินทุน มีผลกระทบต่อเปอร์เซ็นต์การเปลี่ยนแปลงของเบี้ยประกันความเสี่ยงซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลกระทบต่อระดับเงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่เหมาะสมมากกว่าปัจจัยอื่นๆ ส่วนการเปรียบเทียบระดับเงินทุนสำรองระหว่างประเทศกับระดับเงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่เหมาะสมพบว่าในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาระดับเงินทุนสำรองระหว่างประเทศมีปริมาณมากกว่าระดับเงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่เหมาะสม ดังนั้นกรณีที่ระดับเงินทุนสำรองระหว่างประเทศยังคงมีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในอนาคตควรมีการจัดตั้งกองทุนความมั่งคั่งของภูมิภาคอาเซียน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรักษาเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจภายในภูมิภาคอาเซียนให้มีการเจริญเติบโตอย่างมั่นคง