Abstract:
ข้อมูลของพ่อสุกรพันธุ์แท้ดูร็อค แลนด์เรซ และยอร์คเชียร์ สายพันธุ์ฟินแลนด์และนอรเวย์ของฟาร์มสุกรเชิงการค้าแห่งหนึ่งทางภาคกลางของประเทศไทย จำนวน 9,760 บันทึก จากพ่อพันธุ์สุกร 108 ตัว ถูกนำมาใช้ในการประมาณค่าพารามิเอร์ทางพันธุกรรมสำหรับลักษณะคุณภาพน้ำเชื้อ ได้แก่ ปริมาตรน้ำเชื้อ (SV) ความเข้มขันของน้ำเชื้อ (SC) จำนวนตัวอสุจิทั้งหมด (TS) และจำนวนอสุจิผิดปกติทั้งหมด (TA) และสำหรับลักษณะการให้ผลผลิต ได้แก่ อัตราการเจริญเติบโตต่อวัน (ADG) และความหนาไขมันสันหลัง (BF) ข้อมูลลักษณะคุณภาพน้ำเชื้อมีการบันทึกตั้งแต่ปี พ.ศ. 2544 ถึง 2552 ยกเว้นข้อมูลของจำนวนตัวอสุจิผิดปกติทั้งหมดที่เริ่มบันทึก เมื่อปี พ.ศ. 2546 ผลการศึกษาพบว่า พันธุ์ของพ่อพันธุ์สุกรมีอิทธิพลต่อลักษณะคุณภาพน้ำเชื้อทุกลักษณะ และ BF อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05) อายุที่รีดน้ำเชื้อ ระยะห่างระหว่างการรีดน้ำเชื้อ และปี-เดือนที่ทำการรีดน้ำเชื้อมีอิทธิพลต่อลักษณะคุณภาพน้ำเชื้อทุกลักษณะอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05) ขณะที่ปีที่พ่อพันธุ์สุกรเกิดมีอิทธิพลต่อ ADG และ BF อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05) ค่าอัตราพันธุกรรมของลักษณะคุณภาพน้ำเชื้อมีค่าปานกลางถึงสูง (0.29 ถึง 0.49) ค่าอัตราพันธุกรรมของ ADG และ BF มีค่าเท่ากับ 0.04 ± 0.13 และ 0.18 ± 0.08 ตามลำดับ ค่าอัตราซ้ำของลักษณะคุณภาพน้ำเชื้อมีค่าตั้งแต่ 0.30 ถึง 0.61 ค่าสหสัมพันธ์ทางพันธุกรรมระหว่างลักษณะระหว่างการให้ผลผลิต และลักษณะคุณภาพน้ำเชื้อทุกลักษณะไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ (p>0.05) ยกเว้น BF และ SV (rgg = -0.52 ± 0.19) ค่าสหสัมพันธ์ทางพันธุกรรมระหว่างลักษณะคุณภาพน้ำเชื้อแต่ละลักษณะไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ (p>0.05) ยกเว้น SV และ SC (rgg = -0.45 ± 0.18) และ SV และ TS (rgg = 0.57 ± 0.16) ค่าสหสัมพันธ์ทางพันธุกรรมระหว่าง ADG และ BF มีค่าเท่ากับ -076 ± 0.11 ผลการศึกษาพบว่า ลักษณะคุณภาพน้ำเชื้อมีความแปรปรวนทางพันธุกรรมเพียงพอที่จะทำการคัดเลือกได้ และการคัดเลือกพ่อพันธุ์สุกรโดยการพิจารณาจากลักษณะการห้ผลผลิตเพียงอย่างเดียว ไม่ส่งผลเสียต่อลักษณะคุณภาพน้ำเชื้อของพ่อพันธุ์สุกร