Abstract:
หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีความพยายามที่จะพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิ เพื่อให้เกิดการบริการสาธารณสุขขั้นพื้นฐาน ที่มีความเท่าเทียม ทั่วถึง และมีประสิทธิภาพแก่ประชาชน งานวิจัยชิ้นนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความพร้อมในการทำงานแบบเครือข่ายรวมทั้งปัจจัยที่ส่งเสริมหรือเกื้อหนุนและปัจจัยที่เป็นอุปสรรคหรือข้อจำกัดที่ทำให้เกิดความพร้อมในการทำงานแบบเครือข่าย ของ ศูนย์แพทย์ชุมชนองค์พระปฐมเจดีย์ สถานีอนามัยตำบลสนามจันทร์ และ ศูนย์บริการสาธารณสุขเทศบาลนคร นครปฐม จ.นครปฐม รวมจำนวน 3 แห่ง โดยการใช้การสัมภาษณ์แบบมีโครงสร้างและการสังเกตการณ์แบบไม่มีส่วนร่วมเป็นวิธีการในการรวบรวมข้อมูล ผลการศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูล พบว่า กลุ่มตัวอย่างทั้ง 3 มีความพร้อมในการทำงานแบบเครือข่าย โดยมีระดับความพร้อมที่แตกต่างกัน ศูนย์แพทย์ชุมชนองค์พระปฐมเจดีย์ มีความพร้อมในการทำงานแบบเครือข่ายมากที่สุด รองลงมาคือ สถานีอนามัยสนามจันทร์ และที่ยังไม่มีความพร้อมคือ ศูนย์บริการสาธารณสุขเทศบาลนคร นครปฐม ส่วนปัจจัยที่ส่งเสริมหรือเกื้อหนุนให้เกิดความพร้อมในการทำงานแบบเครือข่าย คือ ลักษณะของชุมชน ลักษณะทางกายภาพ ขนาดและระบบงบประมาณ ลักษณะการทำงานของบุคลากรในหน่วยงาน ลักษณะการทำงานของผู้บริหาร กฏระเบียบและข้อบังคับที่องค์การใช้อยู่ ความรู้ความสามารถในขอบเขตงานที่รับผิดชอบ ความเข้าใจและให้ความสำคัญกับการทำงานแบบเครือข่ายของผู้บริหาร การจัดสรรอัตรากำลังขององค์การ กระบวนการประกันคุณภาพและควบคุมคุณภาพการปฏิบัติงานของเครือข่าย การดำเนินการร่วมกับหน่วยงานประเภทอื่นๆ และระบบการติดตามและประเมินผลที่มีประสิทธิภาพ ส่วน ปัจจัยที่เป็นอุปสรรคหรือข้อจำกัดของความพร้อมในการทำงานแบบเครือข่าย คือ ขาดนโยบายที่เน้นให้หน่วยงานที่มีส่วนได้ส่วนเสียเข้ามามีส่วนร่วม ไม่มีการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเป็นเครื่องมือหลักในการประสานงาน ไม่มี การวางแผนทิศทางที่มุ่งเน้นผลงาน มีโครงสร้างขององค์การและสายการบังคับบัญชาที่เป็นลำดับขั้นค่อนข้างสูง ไม่มีการบริหารงานที่สร้างขวัญและกำลังใจแก่ผู้ปฏิบัติงาน ไม่มีความครบถ้วนของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เข้ามาเป็นเครือข่าย ไม่มีองค์ความรู้ที่สร้างใหม่จากกระบวนการบริหารจัดการความรู้ และ/หรือ การเรียนรู้ขององค์การ และ ไม่มีระบบการบริหารต้นทุนหรือค่าใช้จ่ายอย่างมีประสิทธิภาพ ผลการศึกษานี้นำไปสู่ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายให้หน่วยงานด้านสาธารณสุขตั้งแต่ระดับกระทรวงลงมาจนถึงระดับท้องถิ่นควรจัดให้หน่วยงานมีนโยบายที่เน้นการมีส่วนร่วมของหน่วยงานที่มีส่วนได้ส่วนเสีย มีแพทย์หมุนเวียนมาให้บริการ การสร้างขวัญและกำลังใจแก่ผู้ปฏิบัติงาน และพัฒนาองค์ความรู้จากกระบวนการบริหารจัดการความรู้ ส่วนข้อเสนอแนะเชิงปฏิบัติการ ได้แก่ สถานบริการสาธารณสุขระดับปฐมภูมิควรส่งเสริมให้มีเจ้าหน้าที่จิตอาสามาช่วยงาน การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในการประสานงาน การคำนึงถึงเครือข่าย การวางแผนทิศทางที่มุ่งเน้นผลงาน และระบบการบริหารต้นทุน รวมทั้งหน่วยงานต้นสังกัดของสถานบริการระดับปฐมภูมิควรปรับโครงสร้างขององค์การและสายการบังคับบัญชาให้มีลำดับชั้นน้อยลงและมีความยืดหยุ่นในการสั่งการมากขึ้น