Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มุ่งศึกษาถึงสถานการณ์พลังงานโลกที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงด้านพลังงานของจีน ผ่านกรอบแนวคิดความมั่นคงด้านพลังงาน โดยมีสมมติฐานว่าความผันผวนของตลาดน้ำมันโลก และการพึ่งพาน้ำมันจากการนำเข้าในปริมาณสูง ส่งผลให้จีนจำเป็นต้องเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน ทั้งจากการเร่งสำรวจแหล่งน้ำมันภายในประเทศ ตลอดรวมถึงการพึ่งพาแหล่งน้ำมันจากต่างประเทศอีกด้วย
จากการศึกษาพบว่า ภายหลังจากการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ในการพัฒนาประเทศนับตั้งแต่ ค.ศ. 1979 เป็นต้นมา จีนมุ่งเน้นการพัฒนาอุตสาหกรรมและการเปิดประเทศมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้การเติบโตทางเศรษฐกิจและรายได้ต่อหัวของประชาชนจีนมีพัฒนาการเป็นลำดับ ที่สำคัญการบริโภคน้ำมันโดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรมและการคมนาคมทะยานสูงขึ้นเป็นอย่างมาก จนกระทั่ง ค.ศ. 1993 จีนได้กลายเป็นผู้นำเข้าน้ำมันสุทธิ เมื่อปริมาณน้ำมันภายในประเทศมิอาจตอบสนองต่อความต้องการบริโภคได้อีกต่อไป ขณะเดียวกันระดับการพึ่งพาน้ำมันจากต่างประเทศก็มีสัดส่วนสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นกัน ลักษณะเช่นนี้ส่งผลให้จีนจำเป็นต้องมีนโยบายและยุทธศาสตร์เพื่อรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าว เนื่องด้วยความมั่นคงด้านพลังงานมีนัยโดยตรงต่อความมั่นคงของชาติ ในระดับภายในประเทศ จีนเร่งสำรวจและพัฒนาแหล่งน้ำมันทั้งแหล่งเดิมและแหล่งใหม่ ในระดับระหว่างประเทศ จีนกระชับความสัมพันธ์กับประเทศผู้ผลิตน้ำมันในหลายภูมิภาค ทั้งยังส่งเสริมให้รัฐวิสาหกิจน้ำมันเข้าไปลงทุนในภูมิภาคเหล่านี้ด้วยอย่างไรก็ตาม แม้จีนจะพยายามแสวงหาน้ำมันอย่างต่อเนื่อง แต่เมื่อความต้องการบริโภคน้ำมันไม่มีแนวโน้มลดลง ส่งผลให้จีนยังคงต้องดำเนินการเช่นนี้ต่อไป จนกว่าจะมีนโยบายในการลดการบริโภคน้ำมันอย่างมีประสิทธิภาพ หรือมีการพัฒนาพลังงานทางเลือกอื่นๆ ขณะเดียวกันการเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานของจีน ยังได้นำมาซึ่งความกังวลของทั้งประเทศผู้ผลิตและผู้นำเข้าน้ำมันรายอื่นๆ ในหลายมิติ