Abstract:
ศึกษาประสบการณ์ทางจิตใจของผู้สูงอายุที่ถูกกระทำรุนแรง และศึกษาประสบการณ์การเผชิญความทุกข์ของผู้สูงอายุที่ถูกกระทำรุนแรง โดยใช้ระเบียบวิธีการวิจัยเชิงคุณภาพ แนวปรากฏการณ์นิยมเป็นเครื่องมือในการทำความเข้าใจประสบการณ์ที่เกิดขึ้นกับผู้สูงอายุที่ถูกกระทำรุนแรง การเก็บข้อมูลใช้วิธีการสัมภาษณ์เชิงลึก และการสังเกตในสถานสงเคราะห์คนชราเป็นพื้นที่ศึกษา โดยมีผู้ให้ข้อมูลหลัก 11 คน เป็นเพศชาย 5 คน และเพศหญิง 6 คน ในช่วงอายุระหว่าง 60-80 ปี และผู้ให้ข้อมูลประกอบที่เป็นบุคคลแวดล้อมผู้สูงอายุคือ สมาชิกในครอบครัว นักสังคมสงเคราะห์ และเจ้าหน้าที่ในสถานสงเคราะห์คนชรา ผลการวิจัยสามารถสรุปได้เป็น 2 ประเด็น ดังนี้ เมื่อถูกกระทำรุนแรง ผู้สูงอายุจะเกิดความรู้สึกในทางลบต่อตนเอง เช่น ความรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจในชีวิต ความรู้สึกอ้างว้างไม่เหลือใคร สิ้นหวังหมดอาลัยตายอยาก คร่ำครวญอดีตและรอคอยอนาคต ซึ่งสภาวะดังกล่าวเป็นสภาวะอารมณ์ที่ผู้สูงอายุต้องเผชิญอย่างโดดเดี่ยว ในสถานสงเคราะห์คนชราที่ผู้วิจัยเข้าไปเก็บข้อมูล ความทุกข์ทางจิตใจที่เกิดขึ้นนั้น จากการศึกษาพบว่า ผู้สูงอายุมีวิธีในการรับมือกับความทุกข์ใน 2 ลักษณะ คือ ช่วงแรกผู้สูงอายุมักจะมองว่าการปฏิบัติทางลบที่เกิดขึ้นไม่ใช่เรื่องจริง และหวังว่าบุตรหลานจะกลับตัวกลับใจได้ในที่สุด แต่เมื่อเกิดการกระทำรุนแรงขึ้นซ้ำๆ ส่งผลให้ผู้สูงอายุเกิดความรู้สึกสับสน มืดมน หาทางออกให้กับตนเองไม่ได้ และจำต้องอยู่กับครอบครัวต่อไป แต่เมื่อผู้สูงอายุได้มีเวลาคิดใคร่ควรญอย่างมีสติ ทำให้ผู้สูงอายุเลือกวิธีการเผชิญปัญหาโดยการคิดว่าเป็นเวรกรรม การอโหสิ ไม่จองเวร การคิดปลง และปล่อยเรื่องราวเลวร้ายในอดีตให้ผ่านไป ซึ่งหลักคิดดังกล่าวสามารถบรรเทาความทุกข์ภายในจิตใจของผู้สูงอายุลงได้