Abstract:
การศึกษาลักษณะทางธรณีวิทยาที่สัมพันธ์กับศักยภาพการเกิดกรดของเหมืองถ่านหินมีวัตถุประสงค์หลัก เพื่อระบุพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดน้ำเหมืองเป็นกรด (Acid Mine Drainage, AMD) ของพื้นที่ศึกษา รวมถึงประเมินศักยภาพการเกิดกรดของพื้นที่เสี่ยง โดยทำการศึกษาลักษณะทางธรณีวิทยาของแหล่งถ่านหินในภาคเหนือเปรียบเทียบกับลักษณะทางธรณีวิทยาของพื้นที่ศึกษา และทำการทดสอบและประเมินศักยภาพการเกิดน้ำเหมืองเป็นกรดของตัวอย่างด้วยวิธีสแตทิค (Static Tests) ซึ่งประกอบด้วยวิธี Acid Base Accounting Test (ABA Test) และ Net Acid Generation Test (NAG Test) ผลจากการเปรียบเทียบลักษณะทางธรณีวิทยาพบว่า พื้นที่ที่มีศักยภาพในการเกิดกรดของแหล่งถ่านหินมากที่สุดคือแอ่งแม่ทะ พื้นที่ที่มีศักยภาพการเกิดกรดรองลงมาคือแอ่งวังเหนือและแอ่งเสริมงาม และพื้นที่ที่มีศักยภาพการเกิดกรดน้อยสุดคือ แอ่งแจ้ห่มและแอ่งงาว และจากการวิเคราะห์และประเมินศักยภาพค่าการเกิดกรดของเหมืองถ่านหินลิกไนต์และดินบอลเคลย์ อำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปาง พบว่าจากตัวอย่างที่นำมาทดสอบทั้งหมด 199 ตัวอย่าง พบตัวอย่างที่มีโอกาสในการเกิดกรดจากการทดสอบแบบ ABA Test จำนวน 31 ตัวอย่าง จากการทดสอบแบบ NAG Test จำนวน 17 ตัวอย่าง และจากการเปรียบเทียบระหว่าง ABA Test กับ NAG Test จำนวน 9 ตัวอย่าง โดยภาพรวมตัวอย่างที่มีศักยภาพในการเกิดกรดของพื้นที่ศึกษามีทั้งหมด 42 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 21.11 เปอร์เซ็นต์ โดยชั้นหินที่แสดงศักยภาพในการเกิดกรดมาจากชั้นถ่านหินชั้นที่ 1 (Coal I) ชั้นถ่านหินชั้นที่ 2 (Coal II) ชั้นแร่ดินบอลเคลย์ (Ball Clay) ชั้นระหว่างชั้นถ่านหิน (Interburden) และชั้นล่างชั้นถ่านหิน (Underburden) กล่าวโดยสรุปการศึกษาในครั้งนี้ได้บ่งบอกถึงศักยภาพการเกิดกรดของพื้นที่ ซึ่งจะนำไปสู่การศึกษามาตรการจัดการเพื่อลดผลกระทบของการเกิดกรดอย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนมาตรการการป้องกันและแก้ไขต่อไป