Abstract:
การศึกษา ณ จุดเวลาเดียว นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษารูปแบบการทำลายอวัยวะปริทันต์ในกลุ่มผู้สูงอายุชาวไทย โดยเปรียบเทียบความรุนแรงของการทำลายอวัยวะปริทันต์ และจำนวนตำแหน่งที่เป็นโรค ปริทันต์อักเสบ ในแต่ละบริเวณของช่องปากระหว่างกลุ่มตัวอย่างที่สูบบุหรี่ เคยสูบบุหรี่ ไม่สูบบุหรี่ และเปรียบเทียบภายในกลุ่มตัวอย่างที่มีสถานะการสูบบุหรี่แบบเดียวกัน โดยนำข้อมูลจากโครงการวิจัยการหาปัจจัยเสี่ยงด้านโรคหัวใจและหลอดเลือดที่เก็บรวบรวมในกลุ่มพนักงานผู้สูงอายุของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ปี พ.ศ. 2545 มาทำการวิเคราะห์ กลุ่มตัวอย่างจำนวน 891 คน ช่วงอายุ 52 ถึง 73 ปี ได้รับการประเมินว่าเป็นโรคปริทันต์อักเสบ คือ มีความลึกร่องลึกปริทันต์ > 4 มิลลิเมตร อย่างน้อย 4 ตำแหน่ง หรือมีการสูญเสียการยึดเกาะของอวัยวะปริทันต์ ≥ 5 มิลลิเมตร อย่างน้อย 4 ตำแหน่งในช่องปาก แบ่งกลุ่มตัวอย่างตามสถานะการสูบบุหรี่ เป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่สูบบุหรี่ 134 คน กลุ่มที่เคยสูบบุหรี่ 350 คน และกลุ่มที่ไม่สูบบุหรี่ 407 คน โดยแต่ละกลุ่มมีคราบจุลินทรีย์ในระดับที่ไม่แตกต่างกัน วิเคราะห์ความแตกต่างระหว่างกลุ่มตัวอย่างด้วยสถิติ Kruskal Wallis และเปรียบเทียบเชิงซ้อนโดยใช้สถิติ Conover-Inman วิเคราะห์ความแตกต่างภายในแต่ละกลุ่มตัวอย่างด้วยสถิติ Friedman ที่ระดับความเชื่อมั่นร้อยละ 95 ผลการศึกษาพบว่าแต่ละกลุ่มตัวอย่างมีรูปแบบการทำลายอวัยวะปริทันต์คล้ายคลึงกัน โดยกลุ่มที่สูบบุหรี่จะมีระดับความรุนแรงของการทำลายอวัยวะปริทันต์ และจำนวนตำแหน่งที่เป็นโรคปริทันต์อักเสบในทุกบริเวณสูงที่สุดอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มที่เคยสูบและไม่สูบบุหรี่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณด้านเพดานของฟันหลังบน เป็นบริเวณที่มีความแตกต่างของค่าเฉลี่ยความลึกร่องลึกปริทันต์ ค่าเฉลี่ยร้อยละของตำแหน่งที่มีความลึกร่องลึกปริทันต์ ≥ 4 มิลลิเมตร และค่าเฉลี่ยร้อยละของตำแหน่งที่มีการสูญเสียการยึดเกาะของอวัยวะปริทันต์ ≥ 5 มิลลิเมตร สูงสุดอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ เมื่อเปรียบเทียบกับบริเวณอื่นในช่องปาก ส่วนค่าเฉลี่ยการสูญเสียการยึดเกาะของอวัยวะปริทันต์ พบว่ามีความแตกต่างสูงสุดอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่บริเวณด้านลิ้นของฟันหน้าล่าง ซึ่งทางคลินิกมีลักษณะเหงือกร่น ผลการศึกษาครั้งนี้สรุปได้ว่า กลุ่มที่สูบบุหรี่มีรูปแบบการทำลายอวัยวะปริทันต์คล้ายกับกลุ่มที่เคยสูบและไม่สูบบุหรี่ โดยมีความรุนแรงของโรคปริทันต์อักเสบสูงกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณด้านเพดานของฟันบน จึงมีความเป็นไปได้ว่านอกจากผลทั่วกายของการสูบบุหรี่ที่ส่งเสริมผลของคราบจุลินทรีย์แล้ว การสูบบุหรี่อาจจะมีผลเฉพาะที่ช่วยเสริมให้มีการทำลายของอวัยวะปริทันต์ที่บริเวณนี้รุนแรงกว่าบริเวณอื่นๆ ในช่องปาก