Abstract:
การศึกษาในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาถึงผลของภาวะกระเดียดกรดต่อสมดุลของแคลเซียมฟอสฟอรัส ระดับวิตามินดี พาราไทรอยด์ฮอร์โมนและการเปลี่ยนแปลงของกระดูกในแมวที่ป่วยด้วยโรตไตวายเรื้อรังตามธรรมชาติ ได้ทำการศึกษาในแมวจำนวน 27 ตัวที่เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลสัตว์เล็ก คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยแบ่งแมวที่ศึกษาออกเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มควบคุมซึ่งเป็นแมวสุขภาพดี (n = 6) และเข้ารับการฉีดวัคซีนที่โรงพยาบาลสัตว์เล็กในช่วงเวลาเดียวกับแมวที่ทำการศึกษา แมวป่วยเป็นโรคที่ได้รับการวินิจฉัยเบื้องต้นจากสัตวแพทย์ประจำโรงพยาบาลว่าเป็นโรคไตวายเรื้อรัง ซึ่งมีค่ายูเรียในกระแสเลือดมากกว่าหรือเท่ากับ 50 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตรและค่าครีเอทินีนมากกว่าหรือเท่ากับ 2.1 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร แบ่งเป็น 2 กลุ่มคือกลุ่มแมวป่วยที่ไม่มีภาวะกระเดียดกรดซึ่งมีค่าความเป็นกรด-ด่างของเลือดปกติ (n = 9) และกลุ่มที่มีภาวะกระเดียดกรดซึ่งมีค่าความเป็นกรด-ด่างของเลือดน้อยกว่า 7.3 (n = 12) ทำการเก็บตัวอย่างเลือดเพื่อตรวจค่า BUN, creatinine, phosphorus, albumin, calcium, ionized calcium, parathyroid hormone, vitamin D, alkaline phosphatase (total and bone) ค่าความเป็นกรด-ด่างและอิเล็กโตรไลท์ในเลือด เก็บตัวอย่างปัสสาวะเพื่อตรวจค่า deoxypyridinoline และวัดความหนาแน่นของกระดูกในแมวทั้ง 3 กลุ่มในวันที่ 0, 30, 60, 90, 120 และ 150 ของการศึกษา ผลการศึกษาในครั้งนี้พบว่าแมวที่ป่วยด้วยโรคไตวายเรื้อรังร่วมกับมีภาวะกระเดียดกรดเกิดภาวะ renal secondary hyperparathyroidism ตลอดเวลาที่ทำการศึกษา ภาวะกระเดียดกรดทำให้เกิดการสลายกระดูกมากกว่าแมวปกติและเกิดการสร้างกระดูกทดแทนน้อยกว่าแมวปกติ แต่อย่างไรก็ตามแมวที่ป่วยด้วยโรคไตวายเรื้อรังร่วมกับมีภาวะกระเดียดกรดมีระดับของ calcium อยู่ในช่วงปกติตลอดระยะเวลาที่ทำการศึกษา
การศึกษาในครั้งนี้พบว่าภาวะกระเดียดกรดที่เกิดขึ้นในแมวป่วยเป็นปัจจัยเสริมของภาวะ renal secondary hyperparathyroidism ที่สำคัญต่อการทำให้เกิดการเสียสมดุลของแคลเซียมและฟอสฟอรัสในร่างกาย ทำให้แมวป่วยด้วยโรคไตวายเรื้อรังที่มีภาวะ renal secondary hyperparathyroidism ร่วมกับการเกิดภาวะกระเดียดกรดมีความไม่สมดุลของแคลเซียม-ฟอสฟอรัสและเกิดความผิดปกติของกระดูกมากกว่าแมวป่วยด้วยโรคไตวายที่ไม่มีภาวะกระเดียดกรดร่วมด้วย ดังนั้นแนวทางในการรักษาและตรวจติดตามแมวป่วยด้วยโรคไตวายเรื้อรังตามธรรมชาติเพื่อป้องกันการเกิดภาวะ renal secondary hyperparathyroidism และการแก้ไขภาวะกระเดียดกรดที่เกิดขึ้นในแมวป่วยอย่างทันท่วงที จะสามารถช่วยยับยั้งความไม่สมดุลของแคลเซียม-ฟอสฟอรัสและการเกิดความผิดปกติของกระดูกแมวป่วยได้