Abstract:
ข้อมูลของแม่สุกรพันธุ์แท้แลนด์เรซ (LR) ลาร์จไวท์ (LW) และแม่สุกรลูกผสม 50% แลนด์เรซ – 50% ลาร์จไวท์ (50LR) 50% ลาร์จไวท์ – 50% แลนด์เรซ (50LW) 75% แลนด์เรซ – 25 % ลาร์จไวท์ (75LR) และ 75% ลาร์จไวท์ – 25 % แลนด์เรซ (75LW) ของฟาร์มแห่งหนึ่งทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย ถูกนำมาใช้ในการประเมินค่าพารามิเตอร์ทางพันธุกรรมของลักษณะการตายแรกเกิดของลูกสุกร (SB) โดยประเมินร่วมกับลักษณะจำนวนลูกสุกรแรกเกิดทั้งหมด (TB) และลักษณะระยะเวลาในการตั้งท้องของแม่สุกร (GEST) ข้อมูลที่ใช้ในการศึกษาเป็นข้อมูลทางการสืบพันธุ์ของแม่สุกรจำนวน 28,725 ครอก ที่คลอดลูกตั้งแต่ปี พ.ศ. 2545 ถึง 2549 ผลจากการศึกษาพบว่าพันธุ์ ปี-เดือนที่แม่สุกรได้รับการผสม ลำดับท้อง และอายุแม่สุกรเมื่อคลอดลูกมีอิทธิพลต่อ TB อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P < 0.05) ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อ SB อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P < 0.05) ได้แก่ พันธุ์ ปี-เดือนที่แม่สุกรคลอดลูก ลำดับท้อง จำนวนลูกสุกรแรกเกิดทั้งหมด ระยะเวลาในการตั้งท้องของแม่สุกร และอายุเมื่อแม่สุกรคลอดลูก นอกจากนี้ยังพบว่าพันธุ์ ปี-เดือนที่แม่สุกรได้รับการผสม ลำดับท้อง และจำนวนลูกสุกรแรกเกิดทั้งหมดมีอิทธิพลต่อ GEST อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P < 0.05) อิทธิพลเฮทเทอโรซีสที่เกิดขึ้น (P < 0.05) สำหรับ TB มีค่าเป็นบวก ขณะที่อิทธิพลเฮทเทอโรซีสสำหรับ SB และ GEST มีค่าเป็นลบ ค่าอัตราพันธุกรรมของ TB SB และ GEST มีค่าเท่ากับ 0.03 ± 0.01 0.03 ± 0.01 และ 0.16± 0.01 ตามลำดับ ค่าสหสัมพันธ์ทางพันธุกรรมระหว่าง TB กับ SB และกับ GEST มีค่าเท่ากับ 0.49 ± 0.12 และ -0.29 ± 0.10 ตามลำดับ ขณะที่ค่าสหสัมพันธ์ทางพันธุกรรมระหว่าง SB และ GEST มีค่าไม่แตกต่างจากศูนย์ จากค่าสหสัมพันธ์ทางพันธุกรรมแสดงให้เห็นว่าการคัดเลือกเพื่อเพิ่มจำนวนลูกสุกรแรกเกิดทั้งหมด จะมีผลทางอ้อมทำให้จำนวนลูกสุกรตายแรกเกิดเพิ่มขึ้น และทำให้ระยะเวลาในการตั้งท้องของแม่สุกรลดลง