Abstract:
การเชื่อมแนวประสานเชิงกรานส่วนหน้าในหนูตะเภาเพศผู้ อายุประมาณ 4 สัปดาห์ จำนวน 23 ตัว แบ่งหนูตะเภาออกเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มควบคุม 7 ตัว กลุ่มทดลองโดยวิธีศัลยกรรมจี้ไฟฟ้าโดยใช้เครื่องจี้ไฟฟ้าแบบหนึ่งขั้ว 6 ตัว และกลุ่มทดลองโดยวิธีศัลยกรรมเยือกแข็งโดยใช้ไนโตรเจนเหลว 10 ตัว ในช่วงสัปดาห์แรกหลังทำศัลยกรรมพบหนูตะเภาตายจำนวน 4 ตัว โดยแบ่งเป็น หนูตะเภาในกลุ่มควบคุมจำนวน 1 ตัว กลุ่มทดลองโดยวิธีศัลยกรรมจี้ไฟฟ้าจำนวน 1 ตัว และหนูตะเภาในกลุ่มศัลยกรรมเยือกแข็ง 2 ตัว ประเมินผลการเปลี่ยนแปลงของเบ้ากระดูกเชิงกรานจากค่ามุม Norberg มุม DAR และมุม DARS จากภาพถ่ายทางรังสี ก่อนทำศัลยกรรม หลังทำศัลยกรรมที่ 2, 4, 6, 8, 12 และ 16 สัปดาห์ และผลทางจุลพยาธิวิทยาหลังทำศัลยกรรมที่ 2, 8 และ 16 สัปดาห์ เพื่อดูการเปลี่ยนแปลงของเซลล์กระดูกอ่อนบริเวณแนวประสานเชิงกรานส่วนหน้า ผลการวิเคราะห์ข้อมูลพบว่าค่าเฉลี่ยของมุม Norberg มุม DAR ในหนูตะเภากลุ่มศัลยกรรมจี้ไฟฟ้าและกลุ่มศัลยกรรมเยือกแข็งเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05) ในขณะที่ค่ามุม DARS ลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05) เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุมในสัปดาห์ที่ 16 หลังศัลยกรรม และเมื่อเปรียบเทียบระหว่างกลุ่มศัลยกรรมจี้ไฟฟ้าและกลุ่มศัลยกรรมเยือกแข็งพบว่าแตกต่างกันอย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ (p≥0.05) ผลทางจุลพยาธิวิทยาพบการตายของเซลล์กระดูกอ่อนบริเวณแนวประสานเชิงกรานส่วนหน้าในหนูตะเภากลุ่มศัลยกรรมจี้ไฟฟ้า และกลุ่มศัลยกรรมเยือกแข็ง แต่ในกลุ่มศัลยกรรมเยือกแข็งพบว่ามีการแทนที่ของกระดูกจนเกือบสมบูรณ์ตั้งแต่สัปดาห์ที่ 8 หลังศัลยกรรม จากการศึกษานี้สรุปได้ว่าการเชื่อมแนวประสานเชิงกรานส่วนหน้าในหนูตะเภาโดยใช้ศัลยกรรมเยือกแข็ง มีผลให้เกิดการปิดตัวก่อนกำหนดของแนวประสานเชิงกรานและเบ้ากระดูกเชิงกรานคลุมหัวกระดูกต้นขาหลังได้มากขึ้น ดังนั้นวิธีศัลยกรรมเยือกแข็งจึงเป็นแนวทางเลือกหนึ่งเพื่อไปประยุกต์ใช้ในการบำบัดโรคข้อสะโพกเจริญผิดปกติในลูกสุนัขต่อไป