Abstract:
การศึกษาในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาถึงปัจจัยและแรงจูงใจกำหนดการบริจาคโลหิต รวมถึงการมาบริจาคโลหิตในครั้งแรก และความถี่ของการมาบริจาคโลหิตด้วย นอกจากนี้ยังศึกษาถึงลักษณะความสัมพันธ์ระหว่างการบริจาคโลหิตกับช่วยเหลือสังคมในรูปแบบอื่น ๆ ได้แก่ การบริจาคเงิน การบริจาคสิ่งของ และอาสาสมัคร ข้อมูลที่ใช้จะเป็นข้อมูลปฐมภูมิ โดยเก็บรวบรวมข้อมูลจากการสัมภาษณ์โดยใช้แบบสอบ ซึ่งใช้รูปแบบการศึกษาชนิดย้อนหลัง Matched Case-control Studies แบ่งประชากรออกเป็น 2 กลุ่มคือ ประชากรที่มาบริจาคโลหิตที่ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย(Case) จำนวน 268 ตัวอย่าง และประชากรที่ไม่เคยบริจาคโลหิตที่อาศัยอยู่ในเขตกรุงเทพมหานคร(Control) จำนวน 268 ตัวอย่าง รวมทั้งหมด 536 ตัวอย่าง ผลการศึกษาพบว่าปัจจัยที่สะท้อนถึงต้นทุนค่าเสียโอกาสทุกปัจจัยจะมีทิศทางตรงกันข้ามกับการบริจาคโลหิต การมาบริจาคโลหิตในครั้งแรก และความถี่ของการมาบริจาคโลหิต เช่น รายได้ที่มีเครื่องหมายเป็นลบแต่ไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ ในแบบจำลองปัจจัยกำหนดความถี่ของการบริจาคโลหิตมีปัจจัยระยะเวลาเดินทาง และสาเหตุของการเดินทางมาบริจาคโลหิตที่ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติเป็นปัจจัยที่สะท้อนต้นทุนค่าเสียโอกาสอีก โดยที่ระยะเวลาเดินทางมาบริจาคโลหิตมีเครื่องหมายเป็นลบมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับความเชื่อมั่นร้อยละ 90 ปัจจัยที่ว่ามาบริจาคโลหิตที่ศูนย์บริการโลหิตเพราะใกล้บ้านมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับความเชื่อมั่นร้อยละ 95 ใกล้ที่ทำงานมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับความเชื่อมั่นร้อยละ 90 และการเข้าถึงสถานที่รับบริจาคโลหิตมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับความเชื่อมั่นร้อยละ 90 โดยปัจจัยทั้ง 3 มีเครื่องหมายหน้าสัมประสิทธิ์เป็นบวก สำหรับแรงจูงใจที่ทำให้มาบริจาคโลหิตเป็นแรงจูงใจแบบ Impure Altruism การมาบริจาคโลหิตในครั้งแรกจะเป็นการมาด้วยแรงจูงใจแบบ Altruism ผู้ที่มาบริจาคโลหิตบ่อยครั้งแรงจูงใจในการมาบริจาคโลหิตจะเปลี่ยนเป็นแบบ Warm Glow การบริจาคโลหิตมีความสัมพันธ์กับการเป็นอาสาสมัครในทิศทางเดียวกัน และมีความสัมพันธ์กับการบริจาคเงินและสิ่งของในทิศทางตรงกันข้ามซึ่งไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ