Abstract:
การศึกษาวิจัยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาบทบาทอำนาจหน้าที่ในการคุ้มครองสิทธิของผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ระดับความรู้เกี่ยวกับสิทธิของผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ กระบวนการและแนวปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ฝ่ายต่างๆในการคุ้มครองสิทธิของผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์จากกรณีศึกษา ตลอดจนปัญหาและอุปสรรคในการคุ้มครองสิทธิของผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยศึกษาเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพด้วยการศึกษาเอกสาร แบบทดสอบ และการสัมภาษณ์เจาะลึก กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาได้แก่เจ้าหน้าที่ตำรวจสังกัดกองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดต่อเด็ก เยาวชนและสตรี (ปดส.) ส่วนกองกำกับและกลุ่มงานสอบสวน และสังกัดสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง(สตม.)ส่วนของศูนย์สืบสวนสอบสวน รวม 143 คน อีกทั้งได้สัมภาษณ์เจาะลึกกรณีศึกษาเจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่สหวิชาชีพ และผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์รวม 17 คน การศึกษาจากแบบทดสอบพบว่าส่วนใหญ่เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับการค้ามนุษย์ได้ไม่นาน ไม่เคยเข้ารับการอบรมเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ และไม่เคยมีประสบการณ์ในการช่วยเหลือผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ ความรู้เกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิของผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์อยู่ในระดับมาก เจ้าหน้าที่ตำรวจมีความเข้าใจนิยามการค้ามนุษย์ สิทธิของผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ การสืบสวนสอบสวนคดีค้ามนุษย์ การคุ้มครองความปลอดภัยแก่ผู้เสียหายฯ แต่มีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนในประเด็นที่สำคัญอันได้แก่ อำนาจในการค้นเวลากลางคืน การทำงานกับทีมสหวิชาชีพ ขั้นตอนหลักเกณฑ์การคัดแยกฯ ผู้ลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย การไม่ดำเนินคดีกับผู้เสียหายฯตามที่กฎหมายกำหนด อย่างไรก็ตามจากการสัมภาษณ์เจาะลึกพบว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจปฏิบัติหน้าที่ในการคุ้มครองสิทธิของผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์อันได้แก่ การรับแจ้งเหตุ การสืบสวน การคัดแยกผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ การสอบสวนดำเนินคดีและการคุ้มครองพยาน ซึ่งในแต่ละขั้นตอนหากมีการประสานงานกับหน่วยงานอื่นร่วมด้วยจะทำให้งานมีประสิทธิภาพ ผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ได้รับการคุ้มครองดูแล และช่วยให้การดำเนินคดีประสบผลสำเร็จ แต่การปฏิบัติงานพบปัญหาข้อจำกัดที่สำคัญคือเจ้าหน้าที่ตำรวจขาดความรู้ และมีทัศนคติที่ไม่ดีต่อการทำงานด้านค้ามนุษย์ อีกทั้งยังไม่สามารถเป็นผู้เชี่ยวชาญในการดำเนินคดีค้ามนุษย์ อาจเนื่องจากโครงสร้างของหน่วยงานไม่สนับสนุนให้มีการพัฒนาบุคลากรหรือส่งเสริมความก้าวหน้า ขาดการบังคับใช้กฎหมาย มีการทุจริตต่อหน้าที่ แต่ในปัจจุบันการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจหลายฝ่ายต่างเห็นด้วยที่เจ้าหน้าที่ตำรวจมีความรู้มากขึ้นและมีการติดต่อประสานดีขึ้นมากหากเทียบกับในอดีต