Abstract:
การศึกษาทางคลินิกนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเปรียบเทียบความสำเร็จทางคลินิกและภาพรังสีที่ระยะเวลา 6 เดือนของวิธีปิดทับเนื้อเยื่อในโดยอ้อมด้วยแคลเซียมไฮดรอกไซด์ และวิธีรักษาเนื้อเยื่อในที่มีชีวิตด้วยยาปฏิชีวนะผสม 3 ชนิดในฟันกรามน้ำนมล่าง โดยคัดเลือกฟันกรามน้ำนมล่างที่มีรอยผุลึกใกล้เนื้อเยื่อในที่ไม่มีอาการ หรืออาการแสดงถึงการอักเสบของเนื้อเยื่อในชนิดผันกลับไม่ได้ จำนวน 68 ซี่ ของผู้ป่วยเด็กอายุ 3-8 ปี อายุเฉลี่ย 5.69 ± 1.20 ปี แบ่งฟันออกเป็นสองกลุ่มโดยการสุ่ม กลุ่มควบคุมคือ ฟันที่รักษาด้วยวิธีปิดทับเนื้อเยื่อในโดยอ้อมด้วยแคลเซียมไฮดรอไซด์ (34 ซี่) กลุ่มทดลองคือ ฟันที่รักษาด้วยวิธีรักษาเนื้อเยื่อในที่มีชีวิตด้วยยาปฏิชีวนะผสม 3 ชนิด (34 ซี่) ทั้งสองกลุ่มจะได้รับการบูรณะด้วยครอบฟันโลหะไร้สนิมในครั้งเดียวกับการรักษาเนื้อเยื่อใน โดยการศึกษานี้มีทันตแพทย์คนเดียวเป็นผู้ให้การรักษา และทันตแพทย์อีกคนประเมินความสำเร็จทางคลินิกและภาพรังสีของทั้งสองวิธีที่ระยะ 6 เดือน ซึ่งมีระดับความแม่นยำในการตรวจวัด (percent agreement) ทางคลินิกเท่ากับ 100% และทางภาพรังสีเท่ากับ 93.75% และทดสอบความแตกต่างของความสำเร็จทั้งทางคลินิกและภาพรังสีของทั้งสองวิธี โดยใช้การทดสอบด้วยไคสแควร์ที่ระดับความเชื่อมั่น 95% ผลการรักษาที่ระยะ 6 เดือน พบว่าความสำเร็จทางคลินิกของทั้งสองวิธีอยู่ที่ 100% และความสำเร็จทางภาพรังสีของวิธีปิดทับเนื้อเยื่อในโดยอ้อมด้วยแคลเซียมไฮดรอกไซด์อยู่ที่ 82.35% ในขณะที่วิธีรักษาเนื้อเยื่อในที่มีชีวิตด้วยยาปฏิชีวนะผสม 3 ชนิดอยู่ที่ 76.47% ความล้มเหลวทางภาพรังสีที่พบมากที่สุดคือ พบเงาดำบริเวณรอยแยกรากฟัน โดยพบ 14.70% ในกลุ่มวิธีปิดทับเนื้อเยื่อในโดยอ้อมด้วยแคลเซียมไฮดรอกไซด์ และ 17.65% ในกลุ่มวิธีรักษาเนื้อเยื่อในที่มีชีวิตด้วยยาปฏิชีวนะผสม 3 ชนิด โดยความสำเร็จทางคลินิกและภาพรังสีที่ระยะเวลา 6 เดือน ของวิธีปิดทับเนื้อเยื่อในโดยอ้อมด้วยแคลเซียมไฮดรอกไซด์ (82.35%) ไม่มีความแตกต่างกับวิธีรักษาเนื้อเยื่อในที่มีชีวิตด้วยยาปฏิชีวนะผสม 3 ชนิดอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (76.47%) (p = 0.76)