Abstract:
การส่งเสริมให้ผู้เกี่ยวข้องเข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินใจโดยใช้การลงคะแนนเสียงอิเล็กทรอนิกส์ และทำให้การลงคะแนนเสียงนั้นมาจากความคิดเห็นที่แท้จริงของบุคคลนั้น ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง ในงานวิจัยนี้จึงได้ศึกษาปัจจัยที่น่าจะมีผลดังกล่าวโดยเปรียบเทียบ (1) จำนวนการลงคะแนนเสียง (2) การเปลี่ยนทางเลือกในการลงคะแนนเสียงจากครั้งแรกและ ครั้งก่อนหน้า และ (3) การลงคะแนนเสียงตามหรือตรงข้ามกับความเห็นส่วนใหญ่ที่แสดงในสถิติการโหวต ระหว่าง (1) ระบบการลงคะแนนเสียงอิเล็กทรอนิกส์ที่มีลักษณะการแสดงตัวตนแบบปิดบังตนและแบบระบุตัวตนที่แท้จริง และระหว่าง (2) ระบบที่มีการแสดงและไม่แสดงสถิติการโหวต นอกจากนี้ยังได้วิเคราะห์ความสัมพันธ์ของจำนวนการลงคะแนนเสียงกับความกังวลในการตัดสินใจ งานวิจัยนี้เป็นงานวิจัยเชิงทดลองในสถานการณ์จริงโดยใช้หน่วยทดลองคือ นิสิตชั้นปีที่หนึ่งถึงสี่ ภาควิชาสถิติ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จำนวน 167 คน เข้าลงคะแนนเสียงในสี่ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับตัวนิสิตเป็นระยะเวลาสองเดือน โดยใช้เครื่องมือในการเก็บข้อมูลคือระบบการลงคะแนนเสียงอิเล็กทรอนิกส์และแบบสอบถามออนไลน์ที่ผู้วิจัยได้พัฒนาขึ้น ผลการทดลองและการวิเคราะห์ที่ระดับนัยสำคัญ 0.05 พบว่าการแสดงสถิติการโหวตมีผลให้จำนวนการลงคะแนนเสียงมากกว่าการไม่แสดงสถิติการโหวต และมีการเปลี่ยนทางเลือกในการลงคะแนนเสียงทั้งจากครั้งแรกและครั้งก่อนหน้าน้อยกว่าการไม่แสดงสถิติการโหวต ส่วนลักษณะการแสดงตัวตนทั้งสองแบบมี (1) จำนวนการลงคะแนนเสียง (2) การเปลี่ยนทางเลือกในการลงคะแนนเสียงจากครั้งแรกและครั้งก่อนหน้า และ (3) การลงคะแนนเสียงตามหรือตรงข้ามกับความเห็นส่วนใหญ่ที่แสดงในสถิติการโหวตไม่แตกต่างกัน และความสัมพันธ์ระหว่างจำนวนการลงคะแนนเสียงกับความกังวลในการตัดสินใจไม่มีนัยสำคัญ นอกจากนี้ยังพบว่าหน่วยทดลอง ส่วนใหญ่ไม่เปลี่ยนทางเลือกในการลงคะแนนเสียงจากครั้งแรกและครั้งก่อนหน้า และลงคะแนนเสียงตามความเห็นส่วนใหญ่ที่แสดงในสถิติการโหวต